((บทความพิเศษ)) งานเพื่อมรดกวัฒนธรรมก็มา… ช้างเหล็กโยธาบูรณะกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่

พูดถึงคำว่า “กู่” หลายคนคงมโนนึกถึงบรรยากาศเย็นยะเยือกชวนขนหัวลุก เพราะเป็นที่บรรจุอัฐิของท่านที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ความรู้สึกกลัวในความวังเวงอาจเกิดขึ้นกับใครหลายคน แต่เมื่อพิจารณาขยายความอีกสักนิดไปถึง “กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่” กลับทำให้เหล่า “ช้างเหล็ก” กลุ่มหนึ่ง ลืมบรรยากาศเปลี่ยววิเวกแล้วคิดใหม่อีกทีว่าบรรดาเจ้าหลวงล้วนแต่เป็นบรรพบุรุษของ “เชียงใหม่” เราต่างเป็นลูก หลาน เหลน โหลนของบ้านเมืองนี้ แล้วยังจะเป็นเรื่องน่ากลัวอันใด ที่เราจะทำสิ่งดี ๆ สักอย่างตอบแทนท่าน ด้วยการบูรณะซ่อมแซมสถานที่ซึ่งบรรจุเถ้าอัฐิของท่านอย่างสงบในนั้น ให้สวยงามคงอยู่เป็นเสมือนอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ และรำลึกถึงบรรพบุรุษของเรา

                   “กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่” ตามคำนิยามอย่างเป็นทางการ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บรรจุซึ่งอัฐิของเจ้าหลวงเชียงใหม่และพระญาติวงศ์ในสายสกุล เดิมทีแล้วประดิษฐานอยู่ที่ข่วงเมรุ หรือ “กาดหลวง” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน และถูกย้ายมารวมกันไว้ ตามพระดำริของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อปี 2452 ณ วัดสวนดอก วัดใหญ่ ศูนย์กลางพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 ราชวงศ์มังราย อาณาจักรล้านนาทรงสร้างขึ้นด้วยศรัทธา แม้หลังจากนั้นพระอารามหลวงแห่งนี้จะเคยถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาก็ตาม เจ้าแก้วนวรัฐ(เจ้าหลวงองค์สุดท้าย) กับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พร้อมด้วยนักบุญล้านนาครูบาศรีวิชัยและ พุทธบริษัทก็พร้อมใจบูรณปฏิสังขรณ์จนเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อกลุ่ม “ช้างเหล็ก” สลัดภาพบรรยากาศชวนขนหัวลุกออกไปจากความรู้สึกนึกคิด โครงการงานซ่อมก็ได้ฤกษ์กำเนิดขึ้น โดยสนองสืบสานต่อโครงการต้นคิดในปี 2554 “โครงการวิเคราะห์ สำรวจและศึกษาแนวทางการบูรณะซ่อมแซมกู่เจ้านายฝ่ายเหนือฯ” ที่วิศวฯ มช. น้อมรับมอบหมายจากมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ (โดยเจ้าวงวงค์สักก์ ณ เชียงใหม่) ไซต์งานปัจจุบันเปิดทำการโดยภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิศวฯ มช. เดินหน้าผลักดันโครงการ “พัฒนาส่วนผสมของมอร์ต้าสำหรับงานบูรณะซ่อมแซมกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ วัดสวนดอกพระอารามหลวง”  นำเทคนิค นวัตกรรม ทฤษฎีแห่งการก่อสร้างในโลกปัจจุบันเข้าพัฒนาปรับปรุงวัสดุซ่อมแซมให้มีคุณภาพมากขึ้น และหมายใจให้สถานที่นี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันสวยงามที่ตั้งอยู่อย่างคงทนสืบไป แต่แล้ว…. “มอร์ต้าร์” คืออะไร และทำไมจึงต้องใช้มันในการบูรณะครั้งนี้ …ว่ากันง่าย ๆ มอร์ต้าร์เป็นปูนสำเร็จรูป ย้ำว่าสำเร็จรูปจริง ๆ ไม่ต้องลำบากขนทรายเข้าวัดให้มากมาย ไม่ต้องเสียเวลาผสมกับทรายและน้ำให้ยุ่งยาก เพียงแค่นำมาผสมน้ำก็สามารถใช้กับงานฉาบ-งานก่อ-งานเทได้เลย เพราะปูนชนิดนี้ทำมาจากปูนซีเมนต์+ทราย/หินบดละเอียดสุด ๆ ฉะนั้นแล้ว “มอร์ต้าร์” จึงเป็นตัวเลือกดีที่ช่วยประหยัดเวลา รักษาความสะอาดไซต์งาน และผสานยึดเกาะกับพื้นผิว ลดการหลุดร่อนแตกกร่อนได้ดีเยี่ยมนั่นเอง โดยงานซ่อมครั้งนี้จะช่วยดึงเอาคุณสมบัติเด่นของปูนชนิดดังกล่าวที่แกร่งอยู่แล้ว มาพัฒนาให้ “แกร่ง” และ “ทน” ยิ่งขึ้นไปอีก ก่อนลงมือฉีกถุงปูนแล้วซ่อมแซมอย่างเป็นทางการ ทีมงานได้สำรวจตรวจหาสิ่งที่ทำให้เกิดความทรุดโทรมจากต้นตอเพื่อจะได้บูรณะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการซ่อมแซมครั้งก่อนหน้า คือ “กร่อน-พอง-ร้าว-รา” …ลองมาดูกันว่าปัญหา 4 อย่างนี้มีหน้าตาอย่างไร อย่างแรก “กร่อน” เนื่องจากพื้นผิวกู่เป็นอิฐมีความพรุนสูง พอผ่านแดด โดนฝนนานเข้าน้ำจึงเข้าไปขังอยู่ในผิวแล้วพาลดันสีจนหลุดออกเมื่อน้ำระเหยไป มากกว่านั้นเมื่อซ่อมแซมโดยเตรียมวัสดุไม่ดีพอ ไม่กำจัดคราบสกปรก ฝุ่นละออง ใช้สีไม่ถูกกับงานก็ทำให้สียึดเกาะได้ไม่ดีและกร่อนร่อนออกในที่สุด “พอง” ผู้ต้องหาทำร้ายพื้นผิวของกู่จนพองนี้ คือ สีที่ทาทับหน้าคนละชนิดกับสีรองพื้น แถมตอนที่ทาทับลงใหม่นั้นชั้นในยังไม่แห้งดี เคลือบหนาเกินไปในครั้งเดียว ทินเนอร์ข้นเกินไป และทาทีใหม่ทับสีเก่าที่เสื่อมสภาพแล้ว ผลคือ เกิดอาการสีพุพอง พื้นผิวย่นไม่สวยงาม “ร้าว” มีสาเหตุใหญ่สองอย่าง ได้แก่ วัสดุเสื่อมสภาพ โดยเกิดขึ้นที่ผิวคอนกรีต แต่ยังไม่ลึกถึงแกนกลางโครงสร้าง มีลักษณะเป็นลายงา รูปดาว หรือรูปคล้ายใยแมงมุม ซึ่งหากละเลยรอยร้าวชนิดนี้ก็อาจทำให้คอนกรีตยุบและแตกไปจนถึงแกนกลางได้ อีกหนึ่งต้นตอ คือ การทรุดตัวของพื้นดิน ซึ่งมีทั้งแบบเส้นเดียวยาว ๆ แบบหลายเส้นต่อกันเป็นแนว ซึ่งทั้งหมดต่อกันเป็นรูปทแยงมุม นั่นแปลว่าโครงสร้างบิดตัว เห็นได้จากเสาหรือมุมของกู่ทรุดไม่เท่ากัน ปัญหาสุดท้าย… “รา”  ผิวกู่ส่วนใหญ่ ทั้งส่วนปูนฉาบ ปูนปั้น รวมถึงสีก็ล้วนมีเชื้อราและตะไคร่น้ำขึ้นกระจายทั่วไป ส่วนจะหนาแน่นมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความชื้นในแต่ละบริเวณ หลังขุดค้นต้นตอ ตรวจอาการเสื่อมสภาพของกู่ ก็ถึงคราววางแผนงานบูรณะและลงมือทำจริง เจริญรอยตามวิธีและใช้วัสดุสำหรับงานบูรณะโบราณสถาน พร้อมคิดค้น  “มอร์ตาร์” สูตร “ช้างเหล็ก” ขึ้น จุดยืนในการคิดค้น คือ สร้างทางเลือกในการใช้วัสดุ “ของดี” ที่มีในบ้านเรา ทำของเดิมให้คงทนถาวร เพิ่มคุณค่าและคุณลักษณะพิเศษกว่าวัสดุงานบูรณะทั่วไปด้วยการทำให้เชื่อมประสานได้เยี่ยม มีความแข็งแรง ทึบแน่น ทนแดด ทนฝน ลดความพรุนในเนื้อคอนกรีต สามารถทำลายเชื้อราหรือตะไคร่น้ำได้เอง รวมถึงสีที่ใช้ทาครั้งนี้ก็เลือกอย่างพิถีพิถัน เน้นความกลมกลืนเป็นสำคัญ และไม่หลุดจากแนวทางของกรมศิลปากร ผสมด้วยความละเมียดละไม ทาด้วยความระมัดระวัง เรียกว่าประณีตวิจิตรทุกขั้นตอนจวบจนการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งหมดเสร็จสิ้น “กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่”  ในวัดบุปผารามสวนดอก ก็กลับสู่ความสวยงามเป็นสถานที่อลังการขึ้นทันตา นับว่าโครงการ “พัฒนาส่วนผสมของมอร์ต้าสำหรับงานบูรณะซ่อมแซมกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ วัดสวนดอกพระอารามหลวง” เป็นการทำนุบำรุงรักษามรดกทางวัฒนธรรม แม้จะไม่ได้ทำในแง่ของการเผยแพร่ศิลปะและประเพณี หากแต่ได้ “สืบสาน” ความงดงาม และ “สร้าง” คุณค่าที่คงทนให้เกิดขึ้น ในแบบฉบับของ “นายช่าง” รั้ว “ช้างเหล็ก” …ที่พวกเขาถูกปลูกฝังให้รู้จักเป็น “ผู้สร้างทั้งดวงมาลย์”

ผู้เขียน :แก้วมณี อุดมสม ประชาสัมพันธ์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ภาพถ่าย: วินัย คำสุรินทร์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.  ]]>