คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งขบวน“สั่งสมบุญญา บูชาแม่กา พุทธมารดา 5 พระองค์”ร่วมสืบสานประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จากการประกวดขบวนโคมยี่เป็ง ครั้งที่ 24 จัดโดยชมรมผู้ประกอบการย่านไนท์บาร์ซาร์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ณ บริเวณถนนช้างคลาน ย่านไนท์บาร์ซาร์ จ.เชียงใหม่
ขบวนของวิศวฯ มช. นำเสนอตามโจทย์
“ตามประทีปโคมไฟ ไหว้สาแม่กาเผือก” ตามตำนานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งตามตำนานเล่าว่า เมื่อต้นปฐมกัป มีพญากาเผือก 2 ตัวผัวเมียทำรัง ณ ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ทรงปฏิสนธิเกิดในครรภ์แม่พญากาเผือกพร้อมกันถึง 5 พระองค์ เมื่อครบทศมาสแม่กาเผือกก็ออกไข่ จำนวน 5 ฟอง และเฝ้าฟูมฟักดูแลรักษาไข่ด้วยความทะนุถนอม อยู่มาวันหนึ่งพญากาเผือกออกไปหากินในถิ่นไกล แล้วเพลิดเพลินกับพืชพรรณธัญญาหารอันอุดมสมบูรณ์ และรื่นรมย์กับธรรมชาติจนมืดค่ำ ขณะที่อีกฝากมีฝนฟ้าพายุคะนองระรอกใหญ่พัดกระหน่ำ ทำให้พญากาเผือกหลงทาง จนเมื่อกลับไปที่รังก็พบว่ากิ่งไม้ที่ทำรังอยู่ถูกพัดหักล้มลงไปในแม่น้ำ แม่กาเผือกตกใจรีบบินถลาหาลูกไข่ทั้ง ๕ แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ ด้วยความโศกเศร้าเสียใจในความรักลูกอย่างสุดซึ้ง จึงไม่สามารถระงับความอาลัยทุกข์ได้ในที่สุดก็สิ้นใจ ด้วยพลังบุญญาธิการที่แม่กาได้สั่งสมมารวมกับที่ลูกทั้ง 5 เป็นโพธิ์สัตว์ จึงหนุนส่งให้แม่กาเผือกตายไปเกิดเป็น “ ฆติกามหาพรหม” ในแดนพรหมโลก ชั้นสุธาวาสมีวิมานทองคำสดใสบริสุทธิ์ งดงามตระการตา และจะได้เป็นผู้ถวายอัฏฐะบริขารบวชแก่ลูกทั้ง ๕ พระองค์ เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไข่ทั้ง ๕ ได้ถูกพัดไหลไปในสถานที่ต่างๆ ก็มีผู้มาพบก็นำไปอุ้มชูดูแล ต่อมา พระโพธิสัตว์ ทั้ง ๕ ก็ประสูติออกจากไข่ ปรากฏเป็นมนุษย์รูปงาม มีพระนามตามลำดับ คือ องค์ที่ ๑ มีพระนามว่า พระกกุสันโธ ตามนามแม่เลี้ยงที่เป็นไก่ องค์ที่ ๒ มีพระนามว่า พระโกนาคมโน ตามนามแม่เลี้ยงเป็นนาค องค์ที่ ๓ มีพระนามว่า พระกัสสโป ตามนามแม่เลี้ยงเป็นเต่า องค์ที่ ๔ มีพระนามว่า พระโคตโม ตามนามแม่เลี้ยงเป็นโค องค์ที่ ๕ มีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรโย ตามนามแม่เลี้ยงที่เป็นราชสีห์ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ทั้ง ๕ พระองค์ได้ออกบวช เป็นฤาษีอยู่ในป่า วันหนึ่งพระอินทร์ทรงให้พระวิษณุกรรมตำนานพระเจ้าห้าพระองค์นิมิตให้ทั้ง ๕ ตนมาพบกันโดยบังเอิญ จึงได้ทราบว่าเป็นพี่น้องกัน เมื่อทราบเรื่องแล้วต่างก็พากันรำลึกถึงพระคุณแม่กาเผือก และประสงค์จะพบแม่กาเผือก ร้อนถึงท้าวพกาพรหมต้องลงมาบอกให้เอาฝ้ายไปทำเป็นตีนกา ใส่ในผางหยอดนํ้ามัน แล้วจุดไฟบูชา เพื่อให้กุศลนั้นแผ่ถึงแม่ และเป็นการรำลึกถึงคุณของแม่กาครั้งที่คำนึงถึง
แนวคิดและรูปแบบของขบวน ยึดแก่นแท้จากประเพณียี่เป็งแต่กาลก่อน ที่ปัจจุบันหลายคนอาจไม่เคยทราบ หรือถูกลืมความสำคัญที่แท้จริงไปแล้ว แต่ไม่ละทิ้งเรื่อง ความสวยงาม ดนตรี รวมถึงศิลปะ ภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา ในการนำเสนอด้วยการใช้เทคโนโลยีตามแบบฉบับของวิศวกรรม โดยมีเรื่องราวร้อยเรียงโดยจำลองการไปวัด ของเหล่าอุบาสก อุบาสิกากว่าสามร้อยคนพร้อมใจเดินทางสร้างกุศลในเทศกาลยี่เป็ง โดยขบวนประกอบด้วย โคมประทีปตีนกาทั้ง ๕ ตามตำนานเรื่องแม่กาเผือก ผู้ซึ่งเป็นมารดาแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ เครื่องสักการะตามแบบล้านนา ช่างฟ้อน (นางรำ) พร้อมของที่จะนำไปถวายพระเพื่อทำบุญ มีการจำลอง ซุ้มประตูป่า (การนำต้นกล้วย ทางมะพร้าวมาตกแต่งประตูบ้านในเทศกาลลอยกระทง เป็นสัญลักษณ์การต้อนรับพระเวสสันดร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) อุบาสก อุบาสิกาที่เดินทางไปทำบุญที่วัดเดินนำ หีบธรรม (กล่องที่เก็บเอกสารทางพระพุทธศาสนา) ไปสู่ศาสนสถาน ถัดจากนั้นมีช่างซอ ขับซอ (การขับเพลงโต้ตอบ ของชายหญิง) เล่าเรื่องตำนานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์หรือตำนานแม่กาเผือก ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท ซึ่งเชื่อว่าพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด 5 พระองค์ ประกอบไปด้วย พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสป พระสมณโคดม และพระศรีอาริยเมตไตร
ส่วนสุดท้ายเป็นโคมหลวงโบราณทั้ง ๕ ได้แก่ โคมไต โคมดาว โคมไห โคมหูแมว และโคมแอว ตามด้วยโคมรูปไข่กา จากตำนานแม่กาเผือก ด้านในบรรจุภาพสัตว์สัญลักษณ์มารดาบุญธรรมของพระพุทธเจ้า รวม ๕ ฟอง และโคมพระเจ้า ๕ ตน อันเป็นโคมประธานประดิษฐานบนดอกบัวที่กลีบดอกเคลื่อนไหวได้โดยระบบไฮดรอลิก เสด็จนำโคมผัดที่มีภาพเล่าตำนานแห่งพระพุทธเจ้าทั้งห้าพร้อมเพลงบรรเลงดนตรีปี่พาทย์ และปิดท้ายขบวนด้วยโคมแอวล้านนา
โคมหลักรูปพระเจ้า 5 ตน เป็นโคมผัดทรงธรรมาสน์สูงสำหรับแสดงธรรมเทศนาในพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น การเทศน์มหาชาติ เทศน์แบบล้านนา ซึ่งประเพณีตั้งธรรมหลวง คือ การฟังเทศน์มหาชาติครั้งใหญ่ให้จบทั้ง 13 กัณฑ์ในวันเดียวกัน ซึ่งถือกันว่าจะมีอานิสงฆ์อันยิ่งใหญ่ ผู้ใดได้ฟังหรือได้บูชากัณฑ์แม้กัณฑ์ใดกัณฑ์หนึ่งเชื่อว่า เมื่อตายไปแล้วจะได้กลับมาเกิดเป็นพุทธศาสนิกชน พบกับพระพุทธเจ้าองค์ที่ชื่อ ศรีอารย์ หรือ ศรีอริยเมตไตร เป็นประเพณีในเดือนยี่เป็งของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมายาวนาน นอกจากนี้ยังมีดอกบัวทั้ง 4 เหล่าประดาประดับอยู่บนฐานของโคมประธาน ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ สืบสานด้วยภูมิปัญญา นอกเหนือจากนี้ยังมีการแปรรูปขบวนเพื่อทำการแสดงต่อหน้าคณะกรรมการ บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่ โดยมีการเล่นดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง และการใช้ผู้บรรยายจริง ไม่ใช้การอัดเสียง และตลอดทั้งขบวนเป็นการร่วมแรงร่วมใจของนักศึกษา คณาจารย์ ทีมช่างและบุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.
ชมภาพบรรยากาศเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1334026633282805.1073741966.227689390583207&type=3
https://www.youtube.com/watch?v=1O0ZzHetZpw#action=share
]]>