ทางม้าลาย 3D การวิจัยดี ๆ เพื่อชีวีปลอดภัย ในยามสัญจรบนถนน

ประเทศไทยทุกวันนี้มีจำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างหนาแน่นมากขึ้น เห็นได้จากยวดยานพาหนะ และผู้คนที่ขวักไขว่สัญจรตามถนนหนทางแต่ละสายแทบตลอดทั้งวันทั้งคืน สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เมื่อมีจำนวนประชากรโดยสารผ่านบนถนนมากขึ้นก็คือ “อุบัติเหตุ” ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตหรือทรัพย์สินจำนวนมาก โดยสาเหตุเกิดจากทั้งความประมาทของตัวบุคคล จากสภาพพื้นผิวการจราจร หรือแม้แต่สัญลักษณ์ทางจราจรที่ไม่ชัดเจน

 

สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศอินเดีย ก็เป็นประเทศที่มีสภาพการจราจรค่อนข้างวุ่นวายคล้ายประเทศไทย เนื่องด้วยมีจำนวนประชากรหนาแน่น ทั้งสองหาแนวทางลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างไร…? คำตอบคือ สร้าง“ทางม้าลาย 2 มิติ” ขึ้นมา แต่ทว่ายังไม่เคยได้ประเมินผลดีหรือผลเสียของมันเลย

กระทรวงคมนาคม ประเทศไทย เล็งเห็นประโยชน์ต่อสวัสดิภาพของผู้ใช้รถใช้ถนน และรับทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางข้ามม้าลายบ่อยครั้ง จึงมีแรงผลักดันให้ทดลองพัฒนาเป็นทางข้ามม้าลาย 3 มิติ และติดตั้งในบ้านของเราดูบ้าง โดยทำเป็นรูปแบบโครงการวิจัยในระยะเวลา 4 เดือน เพื่อศึกษาทางข้ามที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ถนน (Road Users) ดำเนินการโดยทางกรมทางหลวงชนบท พร้อม “ขอมือ” จาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยบูรพาในการสนับสนุนบุคลากรผู้มากความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่งร่วมเป็นคณะศึกษาวิจัย

อาจารย์ ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ได้รับมอบหมาย และอาสาใจผนึกความชำนาญ ยื่นมือร่วมสานต่อการวิจัยครั้งนี้เล่าว่า การดำเนินการจะอยู่ภายใต้โครงการ ทางข้ามม้าลาย 3 มิติ (3D-Pedestrian Crossing) ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” ซึ่งทดลองติดตั้งระบบทางม้าลาย 3 มิติ ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ควบคู่การศึกษาผลกระทบทางด้านวิศวกรรมจราจรและความปลอดภัย ทั้งก่อน และหลังการติดตั้ง โดยมีขอบข่ายการวิจัยว่าด้วยข้อมูลปริมาณจราจร ผู้ใช้ทางข้าม ข้อมูลอุบัติเหตุและลักษณะการเกิด รวมถึงข้อมูลด้านกายภาพ สภาพแวดล้อมบริเวณ 2 ข้างของทางข้าม ทั้งแนวดิ่ง และแนวราบ ตลอดจนความเร็วในการเดินทางของผู้ใช้รถใช้ถนน และปัจจัยด้านอื่น ๆ แล้วนำมาประเมินผล เพื่อประกอบการพิจารณาขยายผลการติดตั้งต่อไปภายหน้า

ในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ติดตั้ง 3D-Pedestrian Crossing ไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 59 ที่คณะศึกษาศาสตร์ บริเวณหน้าโรงอาหารคณะศึกษาศาสตร์ เป็นแห่งแรกที่ประเดิมทางข้ามแนวใหม่ของโครงการวิจัยฯ ซึ่งสิ่งที่ทาง มช. และมหาวิทยาลัยที่ร่วมวิจัยจะต้องรับผิดชอบ คือ ออกแบบ ศึกษาผลกระทบก่อน-หลังติดตั้งทางข้าม โดยกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ลงแรงสร้างทางข้าม 3 มิติ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตามผลที่การศึกษาที่ค้นพบ ส่วนการออกแบบทางข้ามทดลองของ มช. ได้รับความร่วมมือจากคณะวิจิตรศิลป์ ส่งอาจารย์ที่มีฝีมือเรื่ององค์ประกอบ และมุมมองในแง่ศิลปะมาร่วมลงมือออกแบบจากการศึกษาต้นแบบของต่างชาติที่ใช้งานจริง ใช้สีที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ ขาว เทา ดำ วาดให้เป็นภาพลอยขึ้น มีการปรับแต่งงานวาดในสถานที่จริงให้ต่างจากแบบร่างในกระดาษไปบ้าง ก็เพื่อความสวยงาม สมจริง ได้องศาตามแบบฉบับ 3D ทำให้น่าสนใจ เห็นได้เด่นชัด นอกจากนี้ก่อนที่จะถึงทางข้าม มีเส้นซิกแซกเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้ขับขี่รับรู้ และตัดสินใจชะลอความเร็วลง

การเก็บข้อมูลในระยะก่อนและหลังทดลองติดตั้งใช้งานทางข้ามม้าลาย 3 มิติ เป็นหน้าที่ของนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ภายใต้การดูแลของ อ.ดร.ปรีดา เพื่อให้ตอบโจทย์อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการวิจัย นั่นคือ “ความปลอดภัย” โดยวิเคราะห์การมองเห็น (Analyzing visibility) ใช้ทฤษฎี Sight Distance and Stopping Sight Distance ตามมาตรฐาน AASHTO (American Association of State Highway and Transportation Officials) and MUTCD (Manual on Uniform Traffic Control Devices ) มาตรฐานป้ายจราจรประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการนำไปใช้ในประเทศอย่าง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และเป็นที่ยอมรับและเข้าใจในสากล วิเคราะห์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มุมมอง สภาพแวดล้อม มีการตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อสังเกตพฤติกรรมของผู้ขับขี่ จับความเร็วรถว่ามีความรวดเร็วเพียงใด และมีการชะลอลงเท่าไร ตลอดจนสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้งาน

ท่านใดที่ได้ไปทดลองใช้ทางข้ามนี้มาแล้ว หรือต้องการร่วมให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่การวิจัยสามารถให้ข้อมูลผ่านแบบสำรวจได้ทีhttp://goo.gl/forms/mtEpp8F2BENrmR3W2 ผลการสำรวจจะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาทางข้ามที่ดี   และเหมาะสม ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางอย่างมีสวัสดิภาพมากที่สุด หากการค้นคว้าในสนามจริงนี้สำเร็จ อาจมีความเป็นไปได้ว่าทางข้ามม้าลาย 3 มิติ (3D-Pedestrian Crossing) ของไทยเรา จะกลายเป็นนวัตกรรมด้านความปลอดภัยของประเทศ และถือเป็นมาตรฐานทางม้าลายในอนาคต

ผู้เขียนแก้วมณี อุดมสม ประชาสัมพันธ์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.

ขอบคุณข้อมูลจาก นักศึกษาปริญญาโท วิศวฯ โยธาทีมร่วมสำรวจวิจัย และ อาจารย์ ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์

]]>