วิศวฯ มช. จับมือ ม.มิเอะ พา นศ.บินลัดฟ้า Workshop ฝึกวิชา ณ แดนปลาดิบ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สองมหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และ Mie University ผสานความร่วมมือจัดโครงการ Outbound Mobility แลกเปลี่ยนนักศึกษาระยะสั้น รวม 6 วัน ระหว่าง 24-29 กรกฎาคม 2559 เพื่อเรียนรู้ ผ่าน Workshop หัวข้อ The Young International Workshop on Mechatronics ณ Mie University (MU) เมืองสึ (Tsu) ประเทศญี่ปุ่น งานบริหารงานวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. นำทีมโดยรองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพและวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.จักรพงศ์ นาทวิชัย พร้อมเจ้าหน้าที่และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวม 11 ชีวิต เดินทางออกเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ตามโครงการ Outbound Mobility ในความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระยะสั้นของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สองมหาวิทยาลัย คือ มช. และ MU จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-29 กรกฎาคม 2559 มุ่งกิจกรรมหลัก คือ Workshop หัวข้อ The Young International Workshop on Mechatronics ซึ่งผู้ร่วมโครงการได้เรียนรู้ศาสตร์พื้นฐานด้านวิศวกรรมเครื่องกล แล้วประยุกต์ความรู้นั้นมาสรรสร้างสิ่งประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยีที่เข้ากับยุคปัจจุบัน และมากกว่าเป้าหมายเรื่องวิชาการ ยังเป็นโอกาสให้คณาจารย์รวมถึงนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านภาษา วัฒนธรรมโดยวิธีทัศนศึกษานอกหน้าตำราเรียน เรื่องราวตามรอยเรียนรู้ … เมื่อแตะถึงพื้นแดนปลาดิบ ก่อนเดินทางสู่ปลายทางยัง Mie University (MU) คณะเดินทางแวะเมืองนาโกยา เยี่ยมชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่“Nagoya castle: ปราสาทนาโกยา” สัญลักษณ์ของเมือง มีความสำคัญแต่เก่าก่อนเพราะใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จากนั้นจึงมุ่งหน้าต่อไปยัง MU เมืองสึ (Tsu) เพื่อเข้าที่พักก่อนจะเริ่มฝึกปรือทั้งฝีมือและสมองในวันต่อไป เช้าวันที่ 24 กรกฎาคม คณบดี Mie University ให้การต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษาลูกบ้านช้างเหล็ก และร่วมหารือแนวทางดำเนินกิจกรรม Outbound Mobility ครั้งนี้ พร้อมมอบหมายให้ผู้ถ่ายทอดวิชา คือ Professor Dr. Junji Hirai ตำแหน่ง Professor, Head of International Affairs และ Dr.Satoshi Komada รับหน้าที่บรรยายพิเศษว่าด้วยวิศวกรรมเครื่องกลพื้นฐาน (Basic Mechatronics) รวมถึงการประยุกต์ใช้เพื่อผลิตหุ่นยนต์แขนและขามนุษย์ นอกจากนั้น นักศึกษา วิศวฯ มช. ที่อยู่ฝึกงานใน MU ตามโครงการ International Internship Program in ASEAN + 3 ก็ได้นำเสนอสิ่งที่ได้รับ และผลการฝึกงานอีกด้วย วันถัดมา ลูกทัวร์ช้างเหล็กเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่างๆของคณะวิศวกรรมศาสตร์ MU อาทิ System design laboratory, Mechatronics laboratory, Control laboratory และ Electro- mechanical laboratory ซึ่งทุกคนมีความตื่นตาตื่นใจอย่างมาก ต่างซักถามถึงประเด็นที่ตนสนใจ จากนั้นช่วงบ่ายจึงแบ่งกลุ่มแยกย้าย ซึ่งถือเป็นการเริ่มทำ Workshop ร่วมกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นเจ้าบ้านในทริปนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียนรู้จาก บริษัท BYNAS Co., Ltd Robot Engineering × FA Education System นั่นเอง มากไปกว่าการฝึกวิชาร่วมกับคณาจารย์ และเพื่อนชาวญี่ปุ่นแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ไป ทัศนศึกษาที่เมืองนาโกยาอีกครั้ง คราวนี้เป้าหมาย คือ Aichi High School of Technology and Engineering (AIT) โรงเรียนที่เปิดสอนด้านวิศวกรรมโดยเฉพาะ มีอาคาร พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันทันสมัย จากนั้นมุ่งไปศึกษาดูงานยัง Fuji-machine HQ บริษัทผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ รวมถึงชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าล้วนเป็นอุตสาหกรรมรายใหญ่ในญี่ปุ่น ส่วนสถานีต่อไปที่เหล่าลูกทัวร์ช้างเหล็กได้ไปเยือน คือ Makita Corporation ผู้ผลิตสว่าน และเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพสูง อันมีฐานการผลิตเกือบทั่วโลก ประโยชน์จากการเรียนรู้จากสถานที่ต่าง ๆ ทำให้ทุกคนรับทราบ เข้าใจความเป็นมา จนถึงขั้นตอนการผลิต ตลอดจนแนวคิดและสังคมการทำงานของชาวญี่ปุ่นที่แตกต่าง จากชาวไทย โดยหลังจากการศึกษาดูงานและฝึกมือทำ workshop ในแต่ละวัน นักศึกษาจะพากันไปผ่อนคลาย ทำนันทนาการ หรือเล่นกีฬากระขับความสัมพันธ์ วันสุดท้ายของทัวร์ล่าวิชาหนนี้ นักศึกษาแต่ละกลุ่มประมวลความรู้ และนำเสนอสิ่งที่ได้รับ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บอกเล่าความประทับใจจากตลอดระยะเวลา 6 วัน ของ Outbound Mobility โดยแต่ละกลุ่มต่างนำเสนอในรูปแบบเฉพาะของตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างสีสัน และบรรยากาศที่ความคึกคักสนุกสนาน จัดว่าผู้ร่วมโครงการนี้ได้ประสบการณ์ นอกห้องเรียนสี่เหลี่ยมธรรมดาอย่างครบรส เพราะได้ทั้งความรู้ ควบคู่การลงมือทำ จากการจำลองโจทย์ หรือเหตุการณ์ ประสานมิตรภาพกับอาจารย์และเพื่อนพ้อง ทั้งจากรั้วเดียวกัน และจากเมืองเจ้าบ้าน ทั้งยังได้ฝึกฝนการใช้ภาษา ในการสื่อสาร ตลอดจนการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน Outbound Mobility เป็นโครงการให้ทุนแลกเปลี่ยนต่างประเทศแก่นักศึกษา วิศวฯ มช. ทุกชั้นปี ซึ่งคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือ 10 คน ผ่านวิธีการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้จำนวนเงินทุนที่แต่ละคนได้รับ ขึ้นอยู่กับลำดับที่สอบได้ ซึ่งให้การสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก อาหาร และประกันภัยตลอดระยะเวลาร่วมโครงการ โดยมีความเป็นไปได้ว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยจะยังคงจับมือกันจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกปี หากนักศึกษาคนไหนสนใจร่วมทัวร์ล่าวิชาในคราต่อไป โปรดติดตามข่าวสารจากงานวิเทศสัมพันธ์ วิศวฯ มช. โทร. 053-944176 หรือทาง Website : http://researchs.eng.cmu.ac.th/ หรือ เข้าร่วมกลุ่ม Global Engineering Club CMU ใน Facebook เพื่อรับข่าวสารและทุนแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ ]]>