Mix-Key ตัวเดิม เพิ่มเติมสมรรถนะ วิศวฯ รั้วม่วงพ่วงกำลัง ปภ.เชียงราย Top up เครื่องวัดน้ำป่า พร้อมจัดประชุม IS ระวังภัยน้ำท่วม ระยะที่ 3
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฐานะที่ปรึกษาตามที่จังหวัดเชียงรายมอบหมาย เดินหน้าโครงการ “การพัฒนาระบบสารสนเทศการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อการเตือนภัยน้ำท่วม ในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดเชียงราย ระยะที่ 3” นำโดย หัวหน้าโครงการ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ (CENDRU) ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และ ผู้พัฒนาระบบฯ อาจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ หัวหน้าหน่วยวิจัย OASYS Research Group ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
มุ่งหมายศึกษา และพัฒนาระบบสารสนเทศ (Information Systems : IS) เพื่อติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ สำหรับเตือนภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ลำน้ำเสี่ยงภัยของ จ.เชียงราย โดยดำเนินการต่อเนื่องสู่ระยะที่ 3 พื้นที่เป้าหมายครั้งนี้อยู่ใน 4 อำเภอลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ น้ำแม่เผื่อ (อ.เชียงรุ้ง) ,น้ำแม่บง (อ.ดอยหลวง) ,แม่น้ำงาว (อ.เวียงแก่น) และห้วยข้าวต้ม-ห้วยนางแล (อ.เมือง) พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงราย
หัวหน้าโครงการฯ และผู้พัฒนาระบบฯ ดำเนินโครงการ ฯ โดยพัฒนาระบบเครือข่ายเครื่องมือวัดน้ำแบบโทรมาตรขนาดเล็ก (Mix-Key : มิกกี้) ขึ้นใหม่ เสริมเข้ากับระบบเครื่องวัดน้ำแบบโทรมาตรขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำครอบคลุมไปยังลุ่มน้ำที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อย แต่ขาดเครื่องมือเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ซึ่งแต่ละครั้ง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก นอกเหนือจากนี้ยังได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลแม่ข่ายสำหรับรวบรวม จัดเก็บข้อมูล ได้แก่ ระบบการตรวจวัดน้ำในลำน้ำสาขานำร่อง ,ระบบฐานข้อมูลแม่ข่าย ,รูปตัดลำน้ำและความสัมพันธ์ของระดับและอัตราการไหล ทั้งยังนำเสนอข้อมูลต่อชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในหลายประเด็น อาทิ ประชุมชี้แจงโครงการและกำหนดตำแหน่งติดตั้งสถานีวัดน้ำแบบโทรมาตร การติดตั้งเครื่องวัดน้ำแบบโทรมาตร เพื่อเตือนภัยน้ำท่วม พร้อมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องมือวัดน้ำแบบโทรมาตร
ขณะนี้การพัฒนาระบบ IS ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว 2 ส่วน คือ เครือข่ายเครื่องมือวัดน้ำแบบโทรมาตร และระบบการนำเสนอข้อมูลเพื่อการเตือนภัยสาธารณะ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทาง website http://www.CRflood.com โดยถือเป็นศูนย์ข้อมูลสถานการณ์น้ำ 53 สถานีวัดน้ำในเชียงราย และเพื่อให้หน่วยงาน รวมถึงประชาชนในพื้นที่เกี่ยวข้อง ผู้ต้องใช้ประโยชน์จากระบบฯ ทราบวิธีการใช้งาน ตลอดจนแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อการเตือนภัย จึงจัดการประชุม “ระบบสารสนเทศการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อการเตือนภัยน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 3” ระหว่างวันที่ 26 – 29 กรกฎาคม 2559 แบ่งผู้เข้าร่วมฯ ตามพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็น 4 รุ่น ได้แก่
– รุ่นที่ 1 ลุ่มน้ำแม่เผื่อ (อ.เวียงเชียงรุ้ง) ในวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องประชุมเทศบาลบ้านเหล่า – รุ่นที่ 2 ลุ่มน้ำแม่บง (อ.ดอยหลวง) ในวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2559 ณ ที่ว่าการอำเภอดอยหลวง – รุ่นที่ 3 ลุ่มน้ำงาว (อ.เวียงแก่น) ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2559 ณ ที่ว่าการอำเภอเวียงแก่น – รุ่นที่ 4 ห้วยข้าวต้ม-ห้วยนางแล (อ.เมือง) ในวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องประชุมเทศบาลนางแลในงานประชุม รศ.ชูโชค อายุพงศ์ กล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอน และกระบวนการในการพัฒนาระบบ ฯ เพราะ จ.เชียงรายประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำแทบทุกปี ภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้มักส่ง ผลกระทบกับจังหวัด และเกิดขึ้นเป็นวงกว้างในบริเวณใกล้ ลำน้ำสายหลัก ประโยชน์ของระบบฯ จะบรรเทาความเสียหายจากภัยดังกล่าวให้เบาบางลง เนื่องจากแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงที ทั้งนี้การให้ความรู้ และฐานข้อมูลต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอระบบดังกล่าวแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชน ให้ได้รับทราบข้อมูลและใช้ประโยชน์ในการเตรียมการรับมือได้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ
หน่วยวิจัย OASYS Research Group ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เริ่มสร้าง Mix-Key ขึ้นเมื่อประมาณปี 2555 โดยพัฒนาให้มีความชาญฉลาดด้วยการประมวลผลระดับความเร็ว ระยะเวลา ระดับความอันตรายของน้ำป่า เพื่อแจ้งเตือนภัยผ่านหน้า Social Media แบบ Real Time อย่างทันท่วงที ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก ติดตั้งง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก และถูกออกแบบให้เหมาะกับพื้นที่ใช้งาน ส่วนประกอบภายในแต่ละชิ้นแยกกันชัดเจน และมีไฟแสดงสถานการณ์ทำงานง่ายต่อการซ่อมบำรุงเมื่อมีชิ้นส่วนใดชำรุด และประหยัดงบประมาณรวมถึงเวลาในการซ่อมแซม มีเซนเซอร์แบบอัลตร้าโซนิค ซึ่งแม้ติดตั้งบนสะพาน ก็ยังคงสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ ไม่จำเป็นต้องมีท่อ หรือไม้บรรทัดวัดระดับลงไปในน้ำ ตัดปัญหาการชำรุดผุพังเมื่อน้ำหลากแรง และด้วยประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเยี่ยม แม่นยำ ทำให้ Mix-Key ถูกนำไปใช้งานที่ประเทศศรีลังกาอีก 2 สถานี มากไปกว่านั้น ยังเกิดการขยายผล ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ต้นแบบอย่าง จ. เชียงราย เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง
อาจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ วิทยากรในการประชุมนำเสนอภาพรวมระบบฯ และสาธิตการใช้งานซึ่งจะแสดงข้อมูลน้ำรวมทุกสถานีในเชียงราย เพื่อเติมเต็มและสร้างการทำงานสอดคล้องกันจนเป็นระบบที่สมบูรณ์ ให้ข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและเตือนภัยน้ำท่วมที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์ ทั้งจากเครื่องโทรมาตรขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน จำนวน 14 สถานี และจากเครื่องมิกกี้ของโครงการฯ นับแต่ 2 ระยะที่ผ่านมา 17 สถานี รวมกับในปีนี้ อีก 12 สถานี รวมทั้งสิ้น 43 สถานี
ความสำคัญของเว็บไซต์ CRflood คือ ทำให้ประชาชน รวมถึงผู้สนใจเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำที่เป็นปัจจุบัน ถูกต้อง รวดเร็ว ดังนั้นการออกแบบวิธีใช้งานจึงคำนึงถึงประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์หน้าแรก จะทราบสถานการณ์โดยรวมในทันทีจากข้อความสรุปในภาพรวม โดยแสดงเวลาที่ประกาศข้อความ, สถานการณ์ที่เกิดขึ้น, พื้นที่ได้รับผลกระทบ และแนวทางในการปฏิบัติเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น พร้อมมีเมนูหลักให้เลือกติดตามรายละเอียดแต่ละหัวข้อ แต่ละสถานีที่สนใจ หรืออยู่ใกล้เคียงที่อยู่อาศัย สัญลักษณ์สถานีจะเปลี่ยนสีตามระดับการเตือนภัยโดยอัตโนมัติ 4 ระดับ คือ- ระดับน้ำ ปกติ = สีเขียว
- ระดับน้ำ เฝ้าระวัง = สีเหลือง
- ระดับน้ำ เตือนภัย = สีส้ม
- ระดับน้ำ วิกฤต = สีแดง
นอกจากนี้ ทีมที่ปรึกษาฯ ยังได้ลงพื้นที่สำรวจตำแหน่งติดตั้งสถานีที่เหมาะสม ร่วมกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อกำหนดตำแหน่งติดตั้งอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามสถานการณ์ หรือชมรูปภาพเพิ่มเติม พร้อมรับข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ผ่านหน้าแฟนเพจ Facebook: http://www.facebook.com/ChiangRaiFlood และไลน์กลุ่ม id line: @CRflood ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
]]>