(บทความพิเศษ)เด็กรุ่นใหม่ เสียสละเป็น “วิศวฯ บำเพ็ญ” เว้นวรรคหน้าตำรา พาน้องพี่เก็บขยะหลังยี่เป็ง
“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง สนุกกันจริงวันลอยกระทง” หลังจากผู้คนอภิรมย์กับประเพณีที่สวยสดงดงามตามเนื้อร้องของเพลงข้างต้นแล้ว แม้ประชาชนจำนวนมากได้รับความประทับใจกลับไปบรรจุไว้ในความทรงจำ แต่ส่วนที่หลงเหลือทิ้งไว้เป็นขยะบริเวณงานเล่า….???
เมื่อตระหนักอย่างชัดเจนแล้วว่าภายหลังงานประเพณียี่เป็งสิ้นสุดจะมีมูลฝอยปริมาณมาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยงานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา จึงร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ นำนักศึกษาทำกิจกรรม “วิศวกรรม บำเพ็ญประโยชน์” หรือ “วิศวฯ บำเพ็ญ” ตามโครงการ “วิศวะ ร่วมใจรักษ์สิ่งแวดล้อม” ทำความสะอาดเก็บกวาดขยะบริเวณคูเมือง และริมแม่น้ำปิงด้านหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้นักศึกษาฯ รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนพร้อมใจเสียสละเพื่อส่วนรวม
เมื่อถึงวันนัดหมายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 นักศึกษา “ช้างเหล็ก” แบ่งสายเป็น 3 กลุ่มออกเก็บขยะหลังจบงาน “ประเพณียี่เป็ง” ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีปริมาณมาก นักศึกษากลุ่มแรกออกเก็บกวาดบริเวณคูเมืองตั้งแต่ประตูท่าแพ ไปจนถึงบริเวณประตูช้างเผือก อีกกลุ่มหนึ่งรับผิดชอบบริเวณประตูท่าแพถึงประตูเชียงใหม่ ส่วนกลุ่มสุดท้ายเดินทางไปทำความสะอาดแม่น้ำปิงบริเวณหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ – สะพานนวรัฐ ใช้ระยะเวลารวม 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.00 – 11.00 น.
ช่วยกันฉันท์พี่น้อง“วิศวฯ บำเพ็ญ” มุ่งให้นักศึกษารู้รักษ์สิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน รวมถึงก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตลอดจนประสานความร่วมมือ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษาด้วกันเอง และกับสถาบัน รวมถึงชุมชน ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิชาชีวิต นอกเหนือวิชาชีพที่คณะฯหวังใจส่งต่อให้กับเหล่า “นายช่าง” ในอนาคต
เพราะทำเองไม่ได้ทั้งหมด มือของเพื่อนจึงสำคัญ
นายชัยสิฏฐ์ เถื่อนมณเฑียร นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ในฐานะผู้นำน้องพี่ช้างเหล็กร่วมกิจกรรมกล่าวถึงความรู้สึก “สำหรับผมแล้วการเป็นวิศวกรที่เก่ง ต้องมีทักษะสำคัญ 2 ประการด้วยกัน ประการแรก คือ ทักษะทางทฤษฎี การวิเคราะห์ การคำนวณต่างๆ ประการที่สอง คือ ทักษะทางการปฏิบัติในการควบคุมดูแลงาน ซึ่งเราควรมีทั้งสองสิ่งนี้อย่างเชี่ยวชาญถึงจะได้ชื่อว่าเป็นวิศวกรที่เก่ง ปัจจัยสำคัญอีกประการที่จะผนวกทักษะข้างต้นให้มีประสิทธิภาพ และมีคุณค่า คือ ทัศนคติ และจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม หากไม่มีสิ่งนี้แล้วจะทำให้เราเป็นเพียงแค่วิศวกรที่เก่ง แต่ยังไม่ใช่วิศวกรที่สังคมต้องการ
“วิศวฯ บำเพ็ญ” สำหรับผม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ฝึกความเป็นวิศวกรได้อย่างดีเยี่ยม เพราะปลูกจิตสำนึกให้รับผิดชอบต่อสังคม การออกมาทำกิจกรรมครั้งนี้เป็นการสอนน้อง ๆ ให้ตระหนัก และฉุกคิดว่าแม้คนในสังคม มองประเพณีลอยกระทงเป็นการน้อมจิตสำนึกคุณของน้ำที่เราใช้อุปโภค บริโภคตลอดทั้งปีจนเป็นการล่วงเกินพระแม่คงคา จึงนำกระทงมาเป็นเครื่องบูชาขอขมา แต่เมื่อเราศึกษาเล่าเรียนเพื่อไปเป็นวิศวกรเราต้องมองให้ไกลกว่านั้นว่ากระทงที่ปล่อยจกมือลอยลงน้ำแล้วมันไปที่ไหน แน่นอนว่ามันลอยไปที่ปลายน้ำ บ้างก็ติดอยู่ข้างตลิ่งแล้วกลายเป็นขยะ ท้ายที่สุดก็ทำให้น้ำเน่าเสียมากกว่าเดิม เราจึงควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการฝึกฝนนักศึกษาว่าที่วิศวกร ให้รู้จักมีทัศนคติ และจิตสำนึกอันดี พร้อมรับผิดชอบสังคมจึงเกิดเป็นกิจกรรม “วิศวฯ บำเพ็ญ” ขึ้นมา
นอกเหนือจากที่น้อง ๆ ได้รับการปลูกฝังทัศนคติ และจิตสำนึกแล้ว กิจกรรมนี้ยังสอนถึงกระบวนการต่าง ๆ ของนายช่าง เช่น การวางแผน แบ่งงาน แบ่งหน้าที่ ลงมือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมเวลา และการทำงานเป็นทีม อีกทั้งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผมจึงมองว่าวิศวฯ บำเพ็ญเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างพวกเราให้เป็นวิศวกรที่ดี เป็นที่ต้องการของสังคม มากกว่าเป็นแค่วิศวกรที่เก่งเพียงอย่างเดียว”
นายธนาวุฒิ ปรีชารัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ผู้ร่วมกิจกรรม “วิศวฯ บำเพ็ญ” ปี 2559 กล่าวว่า “ผมรู้สึกว่าสังคมปัจจุบันผู้คนไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ของการกระทำที่ตนเองก่อขึ้น จึงกลายเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างสู่สังคม อย่างในวันนี้เมื่อคนมาลอยกระทงกัน พอเขาลอยเสร็จต่างก็กลับกันไป สุดท้ายกระทงเหล่านั้นกลายเป็นขยะ สร้างมลพิษต่อแม่น้ำลำคลอง
ด้านหนึ่งผมรู้สึกแย่กับความสกปรกที่เกิดขึ้น แต่ก็ทำให้ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับรุ่นพี่ และเพื่อนๆ ออกมาอาสาบำเพ็ญประโยชน์ มาแสดงความมีน้ำใจ มีจิตสาธารณะของวิศวฯ มช. เมื่อได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือก็ทำให้ผมรู้สึกว่าสังคมมีความน่าอยู่ขึ้น ถ้าทุกคนรู้จักรับผิดชอบ และมีน้ำใจไมตรีต่อกัน”
ไม่คิดถึงคำว่า “ลำบาก”