วิศวฯ ถ่ายทอดการใช้พลังงานธรรมชาติ ส่งต่อยอดเกื้อหนุนการเกษตรพื้นที่ดอยสามหมื่น

“ดอยสามหมื่น” ผืนแผ่นดินที่อดีต “ฝิ่น” และ “ไร่เลื่อนลอย” เป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ปัจจุบันพืชเศรษฐกิจของคนในชุมชนเปลี่ยนไปเป็นพืชเมืองหนาวตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกลตัวเมือง และหนทางที่แสนทรหด คดโค้ง บ้างเป็นถนนลูกรัง บ้างเป็นดินแดง เมื่อฝนตกก็กลายเป็นโคลน ทำให้การขนส่ง “พืชทำเงิน” ของชาวบ้านเป็นไปอย่างยากลำบาก ผลผลิตบางอย่างตกค้างไม่สามารถส่งออกขายได้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับทราบถึงปัญหา จึงนำผลงานวิจัยด้านวิศวกรรมการอบแห้งที่ได้สร้างไปสานต่อประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านสามหมื่น และบ้านน้ำรู ภายใต้จุดมุ่งหมายที่ว่าของการเพิ่มศักยภาพในการผลิตด้านการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การเดินทางครึ่งแรก : โครงการ   “การพัฒนาตู้อบแห้งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร้วมกับก๊าซ LPG เพื่อใช้ในชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าสาธารณะ”             “เดิมทีแล้วเนื้อที่บนดอยนี้ทั้งหมดประมาณ 15,000 ไร่ ชาวบ้านปลูกฝื่นและทำไร่เลื่อนลอย แต่หลังจากปี พ.ศ.2517 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จมาเพื่อทรงพัฒนาผืนดินแห่งนี้ สร้างอาชีพใหม่ที่ดีแก่ชาวบ้าน สามหมื่น ต.เวียงแหง อ.เวียงแหง และบ้านน้ำรู ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาจึงหันมาปลูกพืชเมืองหนาว เช่น   ลูกพลับ กาแฟ ท้อ บ๊วย แทน แต่การขนส่งค่อนข้างลำบากมาก ทำให้ขายได้แค่ 20 – 30 % เท่านั้น ที่เหลือค้างอยู่ในไร่ในสวน  ราคาก็ตกและไม่คุ้มค่าขนส่ง” นายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ อดีตหัวหน้าโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำที่ 9 (ห้วยน้ำรู) ดอยสามหมื่น เปิดเผยเมื่อตอนที่ ผศ.ดร.ศิวะ อัจฉริยวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ผู้บุกเบิกริเริ่มโครงการฯ นำทีมนักศึกษาไปลงพื้นที่รอบสามเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2556               โครงการนี้สืบเนื่องสานต่อมาจากปี 2555  คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับวิศวกรรมสถานได้เข้าไปอบรมการใช้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมติดตั้งให้ชาวบ้าน แต่ไม่เพียงพอกับผลิตผล ผลไม้ที่เก็บเกี่ยวมาได้จึงถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นจำนวนมาก ในปีนี้หัวหน้าโครงการฯ จึงพากลุ่มนักศึกษาตั้งแต่ ป.ตรี – ป.โท ไปลงพื้นที่กันอีกสองครั้ง ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในการใช้ตู้อบแห้งและการแปรรูปผลไม้ เพิ่มมูลค่าผลผลิต โดย วันที่ 21-22 มิ.ย. 2556 ทีมงานไปที่หมู่ 6 บ้านสามหมื่น จัดอบรมเรื่องการพัฒนาตู้อบฯ จากนั้น เมื่อ 13 กรกฎาคม 2556 ก็ได้ลงลุยพื้นที่หมู่ 5 ในชุมชนบ้านน้ำรู Workshop เกี่ยวกับการติดตั้งและอบแห้งกล้วยโดยใช้ตู้อบแห้งฯ  นายไพโรจน์ จันทร์แก้ว นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หนึ่งในผู้ร่วมปฏิบัติการ ให้ข้อมูล “จุดเด่นและการทำงานของตู้อบนี้ คือ  ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และ LPG หรือแก๊สหุงต้มให้ความร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานำมาใช้ทดแทนไฟฟ้า ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จะมีราคาดีขึ้น เก็บรักษาไว้ได้นาน สามารถส่งขายได้ในฤดูแล้ง”  การลงมือทำกิจกรรมนี้ยังได้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่ห่างไกลความเจริญสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด มากไปกว่านั้น คือการเสนอหนทางทำมาหาเลี้ยงชีพให้ชาวบ้านช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน มิใช่เพียงแค่หยิบยื่นอุปกรณ์ที่จัดวางติดตั้งอย่างสมบูรณ์ให้ได้ใช้เท่านั้น แต่สาธิตตั้งแต่วิธีเตรียมกล้วยน้ำว้าที่จะนำไปอบแห้ง วิธีการใช้ไปจนถึงการบำรุงรักษาตู้อบด้วย             นอกเหนือจากประโยชน์ในแง่การนำวิศวกรรมไปส่งต่อชุมชนแล้ว ยังมีข้อดีในแง่ของการสร้างจิตสำนึกที่ดีกับอาจารย์ และนักศึกษา ให้ได้เรียนรู้ว่าการทำเพื่อสังคมดีอย่างไร รู้จักเสียสละแถมให้โดยไม่คิดมูลค่า และรักชุมชน เล็งเห็นผลประโยชน์ส่วนรวม  มาก่อนผลประโยชน์ส่วนตน การลงพื้นที่ในโครงการนี้ยังได้ทำให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมรับทราบข้อเสนอ ความต้องการของชุมชนเพิ่มเติม เพื่อนำเอามาต่อยอดอีกว่า ในเดือนสิงหาคมเป็นฤดูกาลของลูกพลับ อยากให้มีการอบรมเพิ่มเติม และต้องการให้มีการอบรมเกี่ยวกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น  บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อบแห้งและการจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น การเดินทางครึ่งหลัง : “โครงการพัฒนาเพื่อสนับสนุนศักยภาพในการผลิตด้านการเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย”             เมื่อโครงการครั้งแรกดำเนินการโดยสำเร็จ ก็พร้อมขยายต่อไปยังครั้งต่อไป ครั้งนี้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ 1 ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นอีกหนึ่งพันธมิตร  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัท NHK Spring (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมมือกันภายใต้โครงการพัฒนาเพื่อสนับสนุนศักยภาพในการผลิตด้านการเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (ครอบคลุมทั้ง จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และแม่ฮ่องสอน) มีการส่งมอบเครื่องจักร  วัสดุและอุปกรณ์ซึ่งประกอบด้วย เครื่องย่อยเศษวัสดุทางการเกษตรแบบพ่วงท้ายรถกระบะ เครื่องผสมและบรรจุดินใส่กระสอบ จักรเย็บกระสอบ และถังพลาสติกเหนียวขนาดความจุ 100 ลิตร เพื่อดำเนินโครงการนำเศษวัชพืชจากบริเวณแนวกันไฟและเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาทำเป็นปุ๋ยหมักแก่ สถานีควบคุมไฟป่าพื้นที่ทรงงานดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง โดยมีนายนิคม อิ่มเอิบ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า พื้นที่ทรงงานดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้รับมอบไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ณ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช โดยเป็นการตอบสนองโครงการนำเศษวัชพืชจากบริเวณแนวกันไฟและเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาทำเป็นปุ๋ยหมัก ที่ทางสถานีควบคุมไฟป่าข้างต้นขอสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการดำเนินงาน             เดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะทำงานเดินทางผ่านหนทางดินแดง ลูกรัง เลาะสันเขาดอยสามหมื่นอีกครั้ง ด้วยการสนับสนุนจากพันธมิตร และความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การอบแห้งผลไม้สำหรับชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าสาธารณะ” พร้อมสอนการใช้เครื่องอบแห้งผลไม้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับก๊าซ LPG รวมถึงเครื่องสีข้าว ที่มอบไว้ ณ บ้านดอยช้าง นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปซ่อมแซม ปรับปรุงเครื่องเครื่องอบแห้งผลไม้ฯ ที่ได้ส่งมอบให้บ้านน้ำรู เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ตลอดจนติดตามผลการใช้งานของเครื่องกะเทาะเปลือกถั่วแดงที่ได้มอบให้ชุมชนเพิ่มเติมด้วย             หลังจากนี้ต่อไปโครงการฯ จะยังคงถูกส่งต่อไปยังชุมชนต่าง ๆ บนดอยสามหมื่นและดอยตุงต่อไปอีกเรื่อย ๆ แผนการ ในระยะใกล้นี้ ตั้งแต่เดือน พ.ค. 58 เป็นต้นไป จะมีทั้งกิจกรรมส่งเสริมพัฒนา การส่งมอบเครื่องจักร รวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิต ในชุมชนบ้านห้วยปูใหม่ พื้นที่ดอยตุง ผ่านกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการแปรรูปผลผลิตหน่อไม้  และขยายโครงการลงพื้นที่ตามชุมชนต่าง ๆ ส่วนจะเป็นชุดเครื่องจักรใด ก็ตามแต่ผลผลิตที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักทางเศรษฐกิจของชุมชนนั้น ๆ โดยประมาณการไว้ว่าทุกสิ่งอย่างในทุกพื้นที่จะแล้วเสร็จบรรลุวัตถุประสงค์ ในปี 2560             แม้การเดินทางไปยังชุมชนมีอุปสรรค คือ ระยะทางที่ห่างไกลตัวเมือง ถนนหนทางที่คดโค้งและเป็นดินแดง ชาวบ้านบอกว่าปกติหากจะขึ้นดอยสามหมื่นต้องมีรถทหารคุ้มกัน เพราะเป็นเขตพื้นที่สีแดง อันตรายพอควร นอกจากนั้นยังมี ปัญหาเรื่องการสื่อสารในการอบรม เพราะผู้เข้าอบรมบางคนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่ความลำบากเหล่านี้ไม่ได้ทำลายความมุ่งมั่นและตั้งใจของทีมงานแม้แต่น้อย “ถึงการเดินทางจะไม่สะดวกสบาย แต่ว่าสนุก ได้พูดคุยกับชาวบ้าน สร้างสัมพันธภาพต่อกัน ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยชุมชนให้มีรายได้และอยู่กันในสังคมอย่างเสมอภาค” หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีกล่าว  มากไปกว่านั้นยังมีสัญลักษณ์หนึ่งแห่งผลสำเร็จที่ชาวบ้านตอบรับกลับมาว่า “ ดี มีประโยชน์ เพราะว่าผลไม้อะไรที่ยังขายไม่ได้ ก็นำเอามาอบแห้งเก็บไว้ได้นาน ชอบใจมากที่ขึ้นมาช่วยในครั้งนี้ ขอบคุณมากครับ” น้ำเสียงและสำเนียงที่แม้จะฟังแปลกหูสำหรับคนในเมือง แต่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจของนายอะสะผะ โตจา  ชาวบ้านน้ำรูเอ่ย ถือเป็นอีกเสียงสะท้อนเล็ก ๆ ที่ชื่นใจ และเป็นกำลังใจให้ทีมงาน ผู้เป็นหนึ่งในผลิต จากแดนวิศวฯ รั้วสีม่วงพร้อมจะทำเพื่อบริการสังคมอย่างไม่แบ่งแยกชนชั้นและระยะทางต่อไป

]]>