ทรัพย์ในดิน ถิ่นบนดอย ตามรอยสมเด็จย่า อาสาส่งเครื่องมือช่วยโรงหน่อไม้บ้านห้วยปูใหม่

สภาพพื้นที่ภาคเหนือไทยเรามีป่าเขาลำเนาไพรอยู่มาก บางแห่งมีสถานที่ท่องเที่ยวเป็นแหล่งเศรษฐกิจหลัก บางที่ก็อาศัยผลผลิตจากธรรมชาติเป็นฐานของรายได้ อย่างไรก็ตามกระทั่ง “ดอยตุง” ที่ถือเป็น Landmark ของจังหวัดเชียงราย ก็ยังมีชุมชนห่างไกลความเจริญ แม้จะมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พระตำหนักดอยตุง สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง วัดพระธาตุดอยตุง อันเป็นเหมือนโรงเปิดท่อน้ำเลี้ยงให้ชาวบ้านได้ทำมาค้าขาย กระนั้นหลายคนก็อาจอดสงสัยไม่ได้ว่าชาวบ้านที่ไม่ได้มาประกอบอาชีพอยู่บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวบนดอยนี้ทำอะไรสร้างรายได้กันบ้าง ดอยตุงแห่งนี้มีต้นไผ่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากจนเรียกได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน ปีหนึ่งให้ผลิตผลล้นเหลือ ชาวบ้านละแวกนี้จึงขุดหน่อไม้ไว้สร้างรายได้ โดยมีโรงงานแปรรูปเป็นจุดศูนย์กลางรับซื้อหน่อไม้สดที่บ้านห้วยปูใหม่ ตำบลแม่ฟ้าหลวงพัฒนา ซึ่งจะผลิตหน่อไม้กว่า 700 ตันต่อวัน โครงการพัฒนาเพื่อสนับสนุนศักยภาพในการผลิตด้านการเกษตรอย่างครบวงจร แก้ปัญหาความยากจนอย่างมีส่วนร่วม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน) นำโดยผู้จัดการโครงการ รองศาสตราจารย์.ดร.ศิวะ อัจฉริยะวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มช. และคณะทำงานจึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือ โดยส่งมอบ และติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือทุ่นแรง ย่นระยะเวลา พร้อมเพิ่มกำลังผลิตของโรงงาน ฯ

ก่อนจะเล่าเรื่องราวการพาตัวและใจไปอาสาช่วยโรงหน่อไม้ที่บ้านห้วยปูใหม่ครั้งนี้ ขอเอ่ยถึงที่มาที่ไป เพื่อจะได้เห็นภาพก่อนว่าการเดินทางหนนี้เป็นเส้นทางตามรอยพระบาทของสมเด็จย่าอย่างไร
รองผู้อำนวยการโครงการพัฒนาดอยตุง อดีตนักบินพระที่นั่งของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) เล่าว่าแต่ก่อนนั้น “ดอยตุง” มีแต่ความแห้งแล้ง ไม่มีผืนป่า (คนพื้นที่มักเรียกว่า “ดอยหัวโล้น”) ประชากรประกอบด้วย 6 ชนเผ่าไร้สัญชาติ ไม่มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ เพราะมีกลุ่มติดอาวุธครอบครองพื้นที่บางส่วนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งยังตั้งอยู่ใจกลางสามเหลี่ยมทองคำ จึงเป็นโรงเพาะชั้นเยี่ยมของพืชเสพติด มีธรรมชาติถูกทำลายจากการแผ้วถางเพื่อทำไร่เลื่อนลอย สมเด็จย่าเสด็จพระราชดำเนินเยือนภูเขาลูกนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2530 และทรงเล็งเห็นว่ารากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมบนดอยตุง คือ ความยากจนและการขาดโอกาสในการดำรงชีพ ทรงตั้งพระทัยนำผืนป่ากลับคืนสู่ดอยตุง ตลอดจนฟื้นฟูทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมดำเนินโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อ พ.ศ. 2531 พระราชปรัชญาในการทรงงาน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีสำนึก และพึ่งพาอาศัยกัน ภายใต้หัวใจหลัก “คนอยู่ร่วมกับป่า”  และ “คนต้องเลี้ยงตนเองได้ ทรงเริ่มปลูกป่า ทั้งยังควบคุมไม่ให้เผาหรือทำลายจนทำให้มีป่าไม้เกิดเองตามธรรมชาติ ลักษณะทางกายภาพที่เคยถูกขนานนามเป็นดอยหัวโล้นกลับประกอบด้วยไม้ยืนต้นที่หน่วยงานต่าง ๆ ปลูกขึ้น เช่น ต้นสน ต้นสัก นอกเหนือจากนั้นมี หนึ่งในจำนวนพืชพันธุ์ที่มีมาก คือ ต้นไผ่ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเติบโตและฟื้นตัวได้เร็ว โครงการพัฒนาเพื่อสนับสนุนศักยภาพในการผลิตด้านการเกษตรอย่างครบวงจร เดินหน้ามาตั้งแต่ปี 2557 แต่เริ่มลงพื้นที่บนดอยสามหมื่น จ.เชียงใหม่ จวบจนถึงปัจจุบันที่เป้าหมายอยู่ ณ ดอยตุง จังหวัดเชียงราย เน้นไปยัง 12 หมู่บ้านตอนใน ซึ่งคนในชุมชนไม่มีอาชีพ โดยผู้จัดการโครงการ รศ.ดร.ศิวะ ผนวกกำลังกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ 1 (วสท. ภาคเหนือ 1) ด้วยการสนับสนุนจากบริษัท NHK Spring (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากพื้นที่ทรงงานแห่งนี้มีต้นไผ่จำนวนมาก ทุกปีในช่วงฤดูฝนชาวบ้านจะเก็บหน่อไม้จากป่าไผ่ไปจำหน่าย สาเหตุที่เก็บเกี่ยวเพียงปีละ 1 ครั้ง ก็เพื่อเป็นการรักษาป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลายจนมากเกินฟื้นฟูตามแนวทางของสมเด็จย่า แต่ก่อนหน้านั้นยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง บางรายไม่ได้รับค่าสินค้าที่ขายไป กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านห้วยปูใหม่ ตำบลแม่ฟ้าหลวงพัฒนา อำเภอแม่ฟ้าหลวงจึงก่อตั้งขึ้น โดยมีผู้นำ นายธีรพงษ์ ดาวนภาสิริ ประธานกลุ่มฯ คอยดูแลโรงงานหน่อไม้ให้เป็นจุดหลักรับซื้อหน่อไม้สดของชาวบ้านจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาแปรรูปเป็นแบบเส้น และแบบแผ่นส่งไปยังท้องตลาดต่อไป สิ่งที่โรงงานแห่งนี้ต้องเผชิญ คือปัญหาผลผลิตมีจำนวนมากเกินศักยภาพของเครื่องมือที่ถือใช้อยู่ ผู้จัดการโครงการสนับสนุน ฯ จึงร่วมมือ และหารือกับที่ปรึกษาโครงการ (นายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์) และฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาต้นตอของปัญหา รวมถึงวิถีทางช่วยเหลือโรงงานหน่อไม้ในแง่การเพิ่มกำลังแปรรูปได้อย่างตรงจุด ได้ข้อสรุปร่วมกัน ว่า “แรงงาน” ซึ่งก็คือคนในชุมชนบ้านห้วยปูใหม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการแปรรูปหน่อไม้ในปริมาณมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ขาดอุปกรณ์ที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สามารถต้มหน่อไม้ได้ปริมาณมากต่อครั้ง ทีมงานได้ศึกษาหาความเหมาะสมของเครื่องมือต่าง ๆ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ เครื่องกำเนิดไอน้ำ (Boiler) ขนาดความจุ 1 ตัน ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง หม้อต้มหน่อไม้ (Steamer) สามารถรองรับวัตถุดิบได้หนละ 600 – 700 กิโลกรัม จำนวน 2 ชุด ชุดรอกยกหม้อต้ม 3 ทิศทาง พร้อมอุปกรณ์ติดตั้ง รวมถึงระบบควบคุม สามารถยกตะแกรงตักได้ 700 กิโลกรัม และชุดกำเนิดไฟฟ้าขนาด 50 kVA ซึ่งมีความจำเป็นเนื่องจากกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางไม่เสถียรเท่าไรนัก  

นายธีรพงษ์ ดาวนภาสิริ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยปูใหม่เอ่ยถึงกระบวนการในยุคบุกเบิกของโรงงานว่าเดิมทีบริษัทที่ซื้อหน่อไม้จากโรงงานรับเอาหน่อไม้สดไปต้มทั้งเปลือก แต่ทำให้เกิดเศษซากเหลือทิ้งปริมาณมาก ทั้งยังใช้เวลานาน จึงหาทางออกร่วมกัน โดยให้ชุมชนซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบทำการแปรรูปให้เสร็จสรรพก่อนนำส่งยังบริษัท ชาวบ้านจึงเริ่มลองผิดลองถูก ตั้งกระทะใบใหญ่หม้อใบยักษ์ต้มช่วยกันต้มเอง การทำงานระยะนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก หลังจากโครงการ ฯ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือชุมชนก็ผลิตหน่อไม้แปรรูปได้ปริมาณเพิ่มขึ้น ชุดหม้อต้มทั้งหมดที่ติดตั้งในโรงงานนอกเหนือจะทุ่นแรง ย่นระยะเวลาแล้ว ยังได้ความร้อนคงที่ สามารถควบคุมได้ หน่อไม้จึงมีคุณภาพดี มากไปกว่านั้นทำให้ชาวบ้านมีโอกาสพัฒนาตนเอง ด้วยการเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากอาจารย์และทีมงานผู้ถ่ายทอดวิธีการใช้งานแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนบ้านบริวารชายแดนไทย-เมียนม่าร์ ทั้ง 12 หมู่บ้าน ทั้งยังเกิดภาพประทับใจในชุมชน เพราะสมาชิกแต่ละครอบครัวต่างช่วยกันทำงานคนละไม้คนละมือ ในทุก ๆ เย็นเด็ก ๆ จะช่วยพ่อแม่นำหน่อไม้ใส่กระสอบมาขาย ใส่มากก็ได้มาก ใส่น้อยก็ได้น้อย เพราะทางโรงงานจะคิดมูลค่าเป็นกิโลกรัม แต่คัดเอาเฉพาะหน่อไม้เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 4 นิ้ว ขึ้นไปเท่านั้น

การอาสาในครานี้ นอกจากนำศาสตร์และเครื่องไม้เครื่องมือทางวิศวกรรมไปอุทิศประโยชน์ยังชุมชนในแง่การผลิต รวมถึงเพิ่มรายได้ ยังนับเป็นการสนับสนุนให้ชาวบ้านบนดอยตุงรู้จักปกปักรักษาป่าในทางอ้อม เพราะหากรอคอยความช่วยเหลือจากส่วนกลาง บ้างก็จะมี การชะงัก หรือถอนตัวออกไป จึงอาจเป็นการรักษาอันไม่ยั่งยืนเท่าที่ควร แต่กระบวนการและวิธีการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโดยมีโครงการฯ ส่งเสริมอยู่นั้นได้สร้างความตระหนักเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่อยู่ในอาณาบริเวณของชุมชน ขณะเดียวกันก็กระตุ้นจิตสำนึกรักป่า รักธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งเอื้อทั้งชีวิต และรายได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และไม่ทำให้พระราชปณิธานแห่งสมเด็จย่า รวมถึงผืนพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ที่พระองค์ทรงสร้างด้วยความรักสูญหายล้มตายไปตามกาลเวลา
ทรัพย์ในดิน ถิ่นบนดอย ตามรอยสมเด็จย่า อาสาส่งเครื่องมือช่วยโรงหน่อไม้บ้านห้วยปูใหม่
]]>