ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม แต่ใจเดียวกัน วิศวฯ มช. ลุยแม่จัน ดัน BLUE lab Thailand จับมือ ม.มิชิแกน ช่วยแก้ปัญหาจากภัยน้ำป่า
ทั้งยังถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน พัฒนาให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนฝึกการทำงานเป็นทีมในภาวะต่างวัฒนธรรมต่างภาษาโดยมีกิจกรรมในการบริการวิชาการสู่ชุมชนในระหว่างวันที่ 3 – 31 พฤษภาคม 2560 และลงพื้นที่ชุมชนเพื่อวิเคราะห์ความต้องการอย่างแท้จริง โครงการดังกล่าวมีแผนดำเนินกิจกรรมหลัก 5 ส่วน โดยสัปดาห์แรกหลังจากนักศึกษา University of Michigan (UM) มาถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมพิธีเปิดกิจกรรมโดยมีคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ณัฐ วรยศ เป็นประธานในพิธีกล่าวต้อนรับและเปิดงานอย่างเป็นทางการ จากนั้นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนักศึกษา UM ที่เข้าร่วมโครงการร่วมกันวางแผนการดำเนินกิจกรรม ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรม และเครือข่าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชินพัฒน์ บัวชาติ พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ หัวหน้าโครงการฯ โดยมีกลุ่มวิจัย OASYS Research Group ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นพี่เลี้ยงและอำนวยความสะดวกในตลอดกิจกรรม คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เอ่ยถึงที่มาของ BLUE lab Thailand “โครงการครั้งนี้เกิดจาก ความต้องการที่ตรงกันของทั้งสองฝ่าย คือ ให้นักศึกษานำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ โดยทาง UM อยากให้เป็นการนำไปใช้ในต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้าจะเป็น BLUE lab Thailand คณะฯ เคยนำนักศึกษาของ UM มาร่วมโครงการแลกเปลี่ยน และเราก็นำนักศึกษาของเราไปศึกษาดูงานที่มิชิแกน” “Blue lab ทำโครงการร่วมกับต่างชาติมา 6-7 ปี ต่อเนื่อง และยิ่งทำเรื่อย ๆ เขายิ่งเห็นและรู้ว่าตัวเขามีศักยภาพ มีความสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนได้ ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเห็นภาพการทำงานระยะยาวของนักศึกษาต่างชาติกับ มช. ซึ่ง สามารถขยายผลได้อย่างยั่งยืน รูปแบบของโครงการ นักศึกษาต่างชาติจาก UM เข้ามาทำงานอาสา โดยมีคณะวิศวฯ เป็นผู้แทน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่เจ้าบ้าน (Host) ซึ่งปีนี้เป็นหนแรก แต่ก่อนหน้านั้นทางมิชิแกนเคยมาทำการสำรวจพื้นที่แล้ว ทั้งที่แม่จัน กรุงเทพ และบ้านแม่กำปอง แต่สุดท้ายก็พบว่าแม่จันน่าสนใจที่สุด วัตถุประสงค์การมาเยือนก็เพื่อหาความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่แม่จันว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่นักศึกษาจะพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือได้ ระยะเริ่มต้นนี้เป็นสัปดาห์ของการเรียนรู้จาก มช. เรียนรู้แม่จัน ว่าสภาพทางกายภาพเป็นอย่างไร เมื่อเดินทางไปแล้วจะไปพบอะไรบ้าง ขนาดของเมือง ทำไมแม่จันถึงน่าสนใจ จากนั้นจะไปแม่จัน 5 วัน พบผู้แทนชุมชน นายอำเภอผู้แทนโรงพยาบาล นายกรวมถึงรองเทศมนตรี ผู้แทนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบล (ปภ.) ให้พยายามค้นพบปัญหาของแม่จันคืออะไร” อาจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ กล่าวเสริม สัปดาห์ที่สองเป็นช่วงเวลาของขาลุย อาจารย์ ดร.ภาสกร ผู้เป็นทั้งหัวหน้าโครงการ และกลุ่มวิจัย OASYS นำทีมลงสำรวจพื้นที่ชุมชนเพื่อวิเคราะห์ความต้องการ ณ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายเข้าพบปะ พูดคุยกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงวิทยากรจากหลายภาคส่วน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรม มากไปกว่านั้นทุกคนยังร่วมสร้างฝายทดน้ำ และปลูกป่าที่หมู่บ้านจะพือ ตำบลป่าตึงด้วย ครานี้ได้รับความร่วมมือจาก “คน” ของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คุณรัฐภูมิ อยู่พร้อม อาสาแห่งประเทศไทย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ 1,500 ไมล์ ซึ่งทำงานอาสาของประเทศไทย อันประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ถ่ายทอดแนวคิดในการทำกิจกรรมอาสาเพื่อชุมชน สร้างแรงบันดาลใจเพื่อทำงานบริการสังคมจากความรู้ความสามารถ คุณสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่จันทำหน้าที่บรรยายเกี่ยวกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ สภาพปัญหาทั่วไปของประชาชนในแม่จัน โดยชี้ให้เห็นว่าเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี มีรอยเลื่อนที่พาดผ่าน ทั้งยังประสบปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายท่านที่พร้อมใจเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ อาทิ นายกเทศมนตรีตำบลแม่จัน คุณปิยนุช ไชยกุล และรองนายกเทศมนตรีตำบลแม่จัน คุณเสกสรรค์ จันทร์ถิระติกุล ผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ แนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน บุคลากรโรงพยาบาลแม่จัน ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติผู้ป่วยในอำเภอ และปัญหาอันส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ขั้นตอน แนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ เพราะประชากรแม่จันมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม คุณนคร คำเปี้ย หัวหน้าส่วนงาน ปภ.เทศบาลตำบลแม่จัน สาธิตการทำงานของงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น การตรวจวัดข้อมูลน้ำจากสถานีตรวจวัดน้ำอัตโนมัติแบบโทรมาตรขนาดเล็ก (MixKey) ที่กลุ่มวิจัย OASYS พัฒนาและนำไปติดตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2555, การทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ พร้อมนำทีม BLUE lab Thailand ลงสำรวจแม่น้ำจัน และท่อระบายน้ำจากตัวเมืองลงเหมืองไชยบุรีจนลงสู่น้ำจัน ทำให้พบว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเมืองแม่จันเกิดน้ำท่วมขังเพราะมีสิ่งของไปอุดตันอยู่ภายในท่อ จึงไม่สามารถระบายน้ำได้โดยสะดวก ก่อเกิดน้ำท่วมเอ่อในตัวเมืองในที่สุด คุณปัญญา จันโชค ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ แก่เหมือง-ฝาย ลำน้ำแม่จัน ผู้มีประสบการณ์เปิดปิดประตูฝายมากว่า 20 ปี เผยว่าแม่จันมีรูปแบบในการบริหารจัดการการใช้น้ำจากลำน้ำจันแบบระบบเหมืองฝาย มีการปล่อยน้ำเข้าสู่พื้นที่การทำการเกษตร และสาธิตการเปิดปิดประตูฝายซึ่งแต่ละครั้งใช้เวลานานโดยจะทำให้อยู่ในระดับที่ต้องการ แต่ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ต้องปล่อยในแต่ละครั้ง นอกเหนือจากคนในท้องที่ อาจารย์ ดร.ภาสกร ได้บรรยายเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล, การพัฒนาเครื่อง MixKey และการทำงานบริการวิชาการสู่ชุมชนในหนนี้ด้วย เมื่อพบปัญหาตั้งแต่ต้นตอในสถานที่จริงจากระยะเวลาก่อนหน้าแล้ว สัปดาห์ที่สาม หรือ Expert week ก็เริ่มขึ้น กลุ่ม BLUE lab Thailand เข้าพบคณาจารย์ของคณะวิศวฯ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน เพื่อปรึกษาหารือ และรับฟังการบรรยายถึงประเด็นที่น่าสนใจ รองศาสตราจารย์ดร.ขจรศักดิ์ โสภาจารีย์ (ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) ให้ความรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศของจังหวัดเชียงใหม่, เครื่องมือการวัดฝุ่นควันและการอ่านค่าฝุ่นควัน และการติดตั้งสถานีวัดอากาศที่คณะฯ รองศาสตราจารย์ดร.จักรพงศ์ นาทวิชัย (ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Data Privacy และ Data Information System in Thailand ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ (ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล) พูดถึงเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Conservation), พลังงานทดแทน (Renewable Energy), พลังงานชีวมวล (Biomass) และการทำงานด้านการอนุรักษ์พลังงานในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ปฏิรูป ผลจันทร์ (ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) ส่งต่อองค์ความรู้มลพิษทางน้ำ, การบําบัดของเสียด้วยกระบวนการชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพในการบําบัดและจัดการของเสีย และปิดท้ายด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.มานพ แก้วโมราเจริญ (ภาควิศวกรรมโยธา) บรรยายถ่ายทอดเกี่ยวกับปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่า และแนวทางการพัฒนาคลองแม่ข่า, ระบบการขนส่งสาธารณะของประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นดั่งเข็มทิศชี้ให้ค้นพบนวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่เป้าหมายมากที่สุด สัปดาห์ที่สี่ ทุกคนกลับไปยังพื้นที่อำเภอแม่จันอีกครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลภาคสนามตามหัวข้อที่ได้จากการสำรวจความต้องการเมื่อครั้งก่อน โดยกลุ่มนักศึกษาต่างชาติ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้บันทึกข้อมูลตำแหน่ง รวมถึงขนาดของท่อระบายน้ำ แผนผังการวางทางท่อในพื้นที่เทศบาลตำบล แม่จัน ดูการทำงานของงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการขุดลอกและล้างท่อระบายน้ำพร้อมเสนอ ทั้ง 4 ประเด็น ที่ BLUE lab Thailand จะนำไปพัฒนา คือ
- วิธีกันไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบระบายน้ำ
- วิธีป้องกันไม่ให้เศษขยะเข้าสู่ระบบระบายน้ำ
- วิธีการกำจัดเศษขยะขนาดใหญ่ และเศษตะกอนออกจากท่อ
- วิธีทุ่นแรงในการเปิดปิดประตูน้ำให้เร็วขึ้น