วิศวฯ มช. ต่อยอดระบบ IS เฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพน้ำ สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำผ่านการมีส่วนร่วมกับชุมชน
“จัดการน้ำเสียและขยะชุมชนสู่อนาคตเมืองสีเขียว ในกิจกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพน้ำ” แม่น้ำคูคลอง ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนพร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ กรณีน้ำเสีย น้ำท่วม รวมทั้งการเลี้ยงปลากระชัง การดำเนินการดังกล่าว นำโดย รศ.ชูโชค อายุพงศ์ (ภาควิชาวิศวกรรมโยธา) หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ (CENDIM) เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมด้วย ผศ.ปฏิรูป ผลจันทร์ (ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม) และ อาจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ (ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์) หัวหน้ากลุ่มวิจัย OASYS Research Group เป็นผู้พัฒนาระบบสารสนเทศฯ เพื่อศึกษา และพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพน้ำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำระบบฯ โดยจะติดตั้งสถานีวัดปริมาณ และคุณภาพน้ำแบบโทรมาตร (Quality and Quantity water station: QQ) จำนวน 20 สถานี ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงภัยน้ำท่วม หรือน้ำเสียในแม่น้ำปิง แม่น้ำกวง และแม่น้ำวัง ดำเนินงานด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนประชาชนในระหว่างเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมนำเสนอระบบ ตลอดจนหารือกำหนดตำแหน่งติดตั้งสถานีวัดปริมาณและคุณภาพน้ำแบบโทรมาตรในตำแหน่งที่เหมาะสมของแม่น้ำปิง แม่น้ำกวง และแม่น้ำวังร่วมกัน ให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างตรงจุด การจัดทำระบบการตรวจวัดปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำในแม่น้ำคูคลองนำร่อง กำหนดตำแหน่งติดตั้งสถานีตรวจวัดที่เหมาะสมมี 20 สถานี คือ แม่น้ำปิง 10 สถานี แม่น้ำกวง 7 สถานี แม่น้ำวัง 3 สถานี โดยแต่ละสถานีประกอบด้วยระบบตรวจวัดย่อย 2 ระบบ ส่งข้อมูลแบบตามเวลาจริง (Real time) ได้แก่ 1) ระบบตรวจวัดระดับน้ำ ตรวจวัดค่าระดับน้ำในลำน้ำ และปริมาณน้ำฝน 2) ระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น ตรวจวัดค่าออกซิเจนละลาย (Dissolved Oxygen : DO), อุณหภูมิ, ค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity), และค่าความเป็นกรด-เบสของน้ำ (pH) เป็นต้น สถานี QQ จะส่งข้อมูลที่ได้จากทั้งสองระบบย่อยไปยังฐานข้อมูลในเครื่องแม่ข่ายทางเครือข่ายข้อมูลโทรศัพท์ไร้สาย ซึ่งแสดงผลผ่านทางหน้าเว็บไซต์ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผลลัพธ์ที่จะได้รับจากโครงการ คือ มีระบบสารสนเทศเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพน้ำของลำน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยส่งข้อมูลแบบ real time หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนจึงสามารถใช้เป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย ดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งกรณีน้ำเสีย น้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ทั้งยังมีระบบสารสนเทศ พร้อมฐานข้อมูลกลางของลำน้ำคูคลอง เอื้อต่อการวางแผนการพัฒนาด้วยความเป็นระบบ มีข้อมูลในทิศทางเดียวกันอย่างยั่งยืน โดยท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เอง ถือเป็นการพัฒนาเครือข่ายการบริหารจัดการพื้นที่ระหว่างหน่วยงานสนับสนุนส่วนกลางระดับจังหวัด และชุมชนเพื่อพัฒนาฟื้นฟูลำน้ำคูคลอง ประชาชนและชุมชนโดยรอบเกิดความตระหนักในการใช้ประโยชน์จากลำน้ำได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นต้นแบบการพัฒนา และอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชน ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ส่งเสริมภาพลักษณ์ ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าอยู่ต่อไป ]]>