ทา (สี) ต่อ…ไม่รอแล้วนะ… “วิศวฯ บำเพ็ญ” ยกทัพช้างเหล็กปรับภูมิทัศน์ริมฝั่งปิง เตรียมรับประเพณียี่เป็ง
ทา (สี) ต่อ…ไม่รอแล้วนะ… “วิศวฯ บำเพ็ญ” ยกทัพช้างเหล็กปรับภูมิทัศน์ริมฝั่งปิง เตรียมรับประเพณียี่เป็ง
“ยี่เป็ง” ประเพณีลอยกระทงล้านนา เป็นหนึ่งเทศกาลที่จังหวัดเชียงใหม่ จะได้เปิดบ้านต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจำนวนไม่น้อย เพื่อเป็นการเตรียมบ้านของเราให้สวยงาม พร้อมรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะมาเยือนในไม่ช้า ในขณะเดียวกันเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษา ตระหนักในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกองพัฒนานักศึกษา พร้อมด้วยเทศบาลนครเชียงใหม่ จับมือกันเดินหน้ากิจกรรม “วิศวฯ บำเพ็ญ ” ทำความสะอาด และทาสีบริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิงหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ ถึงด้านหน้าตลาดวโรรส ในวันที่ 20 – 21 ตุลาคม 2561 “วิศวฯ บำเพ็ญ” เป็นดั่งประเพณีดีงามหนึ่ง ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.ปฏิบัติสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังเป็นโอกาสลงมือทำความดีให้กับชุมชนรอบข้างด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฟื้นฟูน้ำแม่ข่า การทำความสะอาดถนน การขุดลอกลำเหมืองในมหาวิทยาลัย เป็นต้น เป้าหมายหลัก คือการเสียสละ อุทิศตนเองแก่สังคม รู้จักการแถมให้โดยไม่คิดมูลค่า ตามปณิธานมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตและผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ โดยไม่ละทิ้งคุณธรรมของทั้งคณะฯ รวมถึงมหาวิทยาลัย ในปีนี้กิจกรรมดังกล่าวมีความพิเศษกว่าครั้งอื่น ๆ ตรงที่นักศึกษารุ่นพี่ โดยเฉพาะ ชั้นปีที่ 4 เป็นผู้จัดการบริหารโครงการเองทั้งหมด ภายใต้การกำกับ ดูแล ของมหาวิทยาลัย คณะฯ และคณาจารย์ที่ปรึกษา ส่วนการทำงานสโมสรนักศึกษาทำหน้าที่วางแผน แบ่งหน้าที่ออกเป็นฝ่าย ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน การคุมงาน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงานจริง ขอบเขตหลักของ “วิศวฯ บำเพ็ญ” หนนี้ คือ ทำความสะอาดพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางเมตร และทาสีใหม่ให้บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิงหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ ยาวไปจนถึงหน้าร้านโอ้วจินเฮง หรือช่วงใต้สะพานแขกหน้ากาดหลวงที่คนเชียงใหม่คุ้นเคยหัวใจหลักวิศวฯ บำเพ็ญ “เป็นการคืนน้ำใจให้กับสังคม โดยใจที่มีจิตอาสา”
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ เอ่ยถึงที่มา และใจความสำคัญของกิจกรรมว่า “คณะฯ จัดวิศวฯ บำเพ็ญต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปี นับแต่ปี พ.ศ.2534 จากวันนั้นจนวันนี้วัตถุประสงค์ยังคงเดิม การที่น้อง ๆ ได้มาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งเราได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน เมื่อคณะฯ ต้องการพัฒนาคนให้กับประเทศ ความคิดอ่านของคนที่จะจบการศึกษาจากสถาบันนี้ ก็ควรต้องถูกบ่มเพาะให้มีน้ำใจ มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา กิจกรรมนี้ เน้นความมีจิตอาสาของน้อง ๆ คณะวิศวฯ ทุกชั้นปี ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ต้องมาเป็นมดงานให้แก่สังคม แต่เริ่มตั้งแต่นักศึกษาปี 4 ซึ่งต้องวางแผน มาดูความต้องการของชุมชนเป็นหลัก แล้วพิจารณาว่าตนจะสนับสนุน หรือส่งเสริมให้น้อง ๆ แสดงถึงน้ำใจที่มีต่อสังคม ได้อย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องการจัดการ บริหารงบประมาณ และเงินทุนที่มาจากคณะฯ ตลอดจน มช. หรือผู้ใหญ่ใจดีหลาย ๆ ท่านที่ร่วมหนุนนำพวกเรา รวมถึงนักศึกษาเก่าด้วย โจทย์แต่ละปีไม่เหมือนกัน ที่มาที่ไปมีหลากหลาย บางปีมาจาก มช. มาจากคณะฯ ครูบาอาจารย์ ผู้บริหาร บางปีนักศึกษาคิดโจทย์ของการทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคมเอง แต่ไม่ว่าจะต้นทางจะมาจากไหน ต้องดูความต้องการของชุมชนเป็นหลัก สำหรับครั้งนี้ เป็นพื้นที่ที่เมืองเชียงใหม่จำเป็นต้องใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยวในงานวัฒนธรรมใหญ่ประจำปี คือ งานลอยกระทง ซึ่งทุกปีจะจัดขึ้นบริเวณตลิ่งหน้าเทศบาลฯ ยาวไปจนถึงสะพานนวรัฐ ความจริงภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบพื้นที่พยายามดูแลรักษาสถานที่เป็นอย่างยิ่ง แต่การที่คณะวิศวฯ เข้ามาช่วย คาดว่าจะเป็นการเร่งสปีดเพื่อให้ทันงานที่เราต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในเทศกาล และงานนี้ต้องใช้แรงกายแรงใจของนักศึกษาอันเตรียมตัวมาเพื่อคืนประโยชน์แก่เมืองเชียงใหม่โดยเฉพาะ”ตอกย้ำความสำคัญของแนวคิด “ทำอะไรจะไม่คิดว่าได้อะไร แต่มองว่าอะไรดี ๆ จะเกิดจากสิ่งที่เราทำบ้าง”
จากการพูดคุยกับนายกสโมสรนักศึกษา วิศวฯ มช. นายภาณุพงศ์ พัฒนสิน ทำให้ทราบว่าแก่นแท้อยู่ที่การทำงานร่วมกันทุกชั้นปี ให้น้อง ๆ ได้ซึมซับการทำงานในชีวิตจริง โดยแบ่งงานเป็นฝ่ายต่าง ๆ พี่ปี 4 เป็นคนควบคุมงาน น้องปี 1 เป็นคนทำงาน ส่วนปี 2 และ 3 เป็นฝ่ายสนับสนุนด้านต่าง ๆ ให้กับปี 4 งานที่ต้องทำหลัก ๆ คือขูดสีเก่าออกทำความสะอาดเตรียมพื้นผิว และลงสีรองพื้น จากนั้นจึงจะทาสีใหม่เป็นสีขาว สรุปภาพรวมมีทีมงานหลายฝ่าย ได้แก่ กลุ่มที่ไปลงมือทำหน้างาน 51 ทีม ในหนึ่งทีมมี Project Engineer 1 คนทำหน้าที่เสมือนหัวหน้าโครงการ ควบคุมสั่งการว่าจะให้ทำอะไร เริ่มงานตอนไหน งานต้องเสร็จเมื่อไหร่ และยังประกอบด้วย Supervisor 1 คน น้องปี 1 ที่เป็น Worker 9-12 คน รับผิดชอบพื้นที่ของตนเอง ฝ่ายอุปกรณ์ ดูแลการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เมื่อเตรียมพร้อมแล้วส่งต่อให้ฝ่ายขนส่งนำไปส่งให้ถึงแต่ละทีม โดยไม่ลืมเรื่องความปลอดภัย ยึดหลัก “Safety first” ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากพี่ ๆ น้อง ๆ คณะพยาบาลศาสตร์คอย Standby เป็นหน่วยพยาบาล ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้ระบบการทำงานในโลกของนายช่าง เด็ก ๆ จะได้รับความรู้เรื่องกระบวนการทาสีลงบนพื้นผิวที่ตนรับผิดชอบ และได้ตอบแทนสังคม ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ในเชียงใหม่ด้วย “เรื่องการปฐมพยาบาล หากเป็นกรณีไม่รุนแรง พยาบาลจะดูแลเอง หากเกินความสามารถจะนำส่งสถานีกาชาดที่ 3 เชียงใหม่ ซึ่งตั้งแต่มาปฏิบัติงานตั้งแต่เช้านี้ ยังไม่มีเหตุร้ายแรงใด ๆ มีเพียงน้องที่เป็นลมเท่านั้น ส่วนนักศึกษาคณะวิศวฯ ที่ร่วมทำภารกิจเป็นฝ่ายพยาบาลทุกคนได้รับการอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาก่อนแล้ว ในวันนี้ทำให้ความรู้สึกที่มองว่ากิจกรรมของวิศวฯ มีภาพลักษณ์เหมือนคนดุ ๆ โหด ๆ ก็เปลี่ยนไป เพราะเราได้เห็นความน่ารักของพี่น้องที่ดูแลกัน และยังมีใจเหลือ คิดเผื่อส่วนรวม” หนึ่งในหน่วยพยาบาล นางสาววัชรี เลิศปรีชารักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพยาบาลศาสตร์ กล่าวถึง “วิศวฯ บำเพ็ญ” นางสาวปณิธาน จารุพันธ์จรัสศรี และนางสาวกมลพรรณ อิ่นคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผู้ร่วมเป็น Project Manager เสริมว่า “ฝ่ายหลักเป็นฝ่ายจัดการส่วนกลาง ดูแลกระบวนการในการทำงานทั้งหมด ฝ่ายสวัสดิการดูแลอาหาร น้ำดื่ม ฝ่ายพยาบาล ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายวัสดุ มีฝ่ายเบ็ดเตล็ดที่เตรียมพร้อมชดเชยแรงงานในฝ่ายต่าง ๆ เมื่อเกิดปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งผ่านวิทยุสื่อสารพกพา ความจริงเราวางแผนไว้แล้ว แต่หน้างานจริงเกิดสิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาดมากมาย เช่น อุปกรณ์ แปรงทาสีไม่พอ เราก็พยายามแก้ไขโดยใช้ทรัพยากรที่มีให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โชคดีที่ทีมงานไม่ว่าชั้นปีไหนก็สู้งาน สิ่งที่ได้รับนอกเหนือจากเรื่องทำงานเป็นทีมอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญมาก คือ การสื่อสาร ซึ่งต้องแน่นอน ชัดเจน ทั่วถึง ถูกต้อง รวมถึงการวางแผนที่ดี และรัดกุม มองครอบคลุมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้” บรรยากาศการทำงานในวันแรก ( 20 ตุลาคม 2561) แม้แดดร้อนแผ่รังสีรุนแรงจนแสบผิว แต่กองทัพลูกช้างเหล็กก็ยังมีรอยยิ้มพิมพ์ใจบนใบหน้าตลอด สิ่งที่ได้เห็นนอกเหนือจากความตั้งใจของพลังช้างเหล็ก ยังได้สัมผัสถึงมุมน่ารักระหว่างพี่น้อง ผองเพื่อน และความอาทรจากครูบาอาจารย์ที่ร่วมปฏิบัติการจนตัวดำไปพร้อมกับนักศึกษา มีการช่วยเหลือ และแบ่งปันซึ่งกันและกันให้เห็นตลอดทาง นายชัยวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ น้องปี 1 วิศวฯ โยธา พูดถึงความรู้สึกที่ได้เป็นเฟืองชิ้นหนึ่งของวิศวฯ บำเพ็ญว่า “มันเป็นการให้เพื่อนมาพบปะ มาทำงานด้วยกัน สร้างมิตรภาพให้เพิ่มขึ้น เป็นความรู้สึกที่ดีมากที่ได้เห็นเพื่อนพี่น้องเหนื่อยไปด้วยกัน ทำอะไรหลายอย่างไปด้วยกัน และทั้งหมดก็มีจุดหมายหลัก คือ ทำประโยชน์เพื่อสังคมไปพร้อม ๆ กัน” ขณะที่ นางสาวธนัยชนก สุวรรณพฤกษ์ นางสาวธิดารัตน์ เอ้งฉ้วน และนางสาวธิดาพร ธิยะคำ นักศึกษาปี 1 วิศวฯ อุตสาหการช่วยกันแสดงความเห็นว่า “งานที่พวกเราต้องทำ คือ ขูดสี ขัดสี กวาด ทำความสะอาด และลงสีใหม่ ได้ลงมือทำกิจกรรมกับเพื่อน และสิ่งที่ทำก็เป็นประโยชน์แก่สังคม เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเรา เพราะยังไม่เคยได้ทำกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน นอกเหนือจากความสนุกสนานที่เกิดขึ้น ยังได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความสามัคคีบนเป้าหมายเดียวกัน คือ การบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวม” โชคไม่ดีนักที่การปฏิบัติภารกิจ “วิศวฯ บำเพ็ญ” ในวันที่ 21 ตุลาคม 2561 ตามแผนแล้วต้อง “ปิดจ๊อบ” นั้น สายฝนฮัมเพลง เป็นจังหวะ Hard Rock แทบทั้งวัน ทีมลูกช้างเหล็กจึงจำใจถอยทัพกลับบ้านกันก่อน อย่างไรก็ตามก็ยังคงต้องกลับไปทำงานตามความมุ่งมั่น ซึ่งหมายใจแล้วว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2561 เพื่อให้ทั้งชาวเชียงใหม่ และผู้มาเยือนได้เห็นภูมิทัศน์ใหม่อันไฉไลกว่าที่เคยเป็น ในขณะที่นักศึกษาผู้ร่วมขบวนการครานี้ ในอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้าเมื่อหันกลับมามองภาพของวันนี้ จะยังคงระรึกได้ถึงทุกหยาดเหงื่อ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือแม้แต่อุปสรรคปัญหาที่ฝ่าฟันไปพร้อมกับเพื่อน พี่ น้อง กลายเป็นหนึ่งในความทรงจำอันตรึงใจ และภูมิใจที่แม้เป็นเพียงจุดเล็ก ในโลกใบนี้ แต่รวมกันแล้วผลดีที่ประจักษ์ก็ยากหามูลค่าใดมาเทียบได้]]>