วิศวฯ มช. จัดประชุมวิชาการนานาชาติ The 25th Tri-U.

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 25th Tri-University International Joint Seminar & Symposium 2018 ในฐานะเจ้าภาพ ภายใต้โจทย์ Population, Food, Energy, Environment to Sustainable Society ระหว่างวันที่ 4 – 8 พฤศจิกายน 2561 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (UNISERV) เพื่อแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ  กระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดี ทั้งยังกระตุ้นให้นักศึกษา พัฒนาตนเองทั้งด้านวิชาการ การทำวิจัย และภาษาต่างประเทศ ให้มหาวิทยาลัยมุ่งสู่สากล   The Tri-University International Joint Seminar & Symposium เป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ  เดิมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยเจียงสู ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันจัดเป็นประจำทุกปี โดยให้แต่ละมหาวิทยาลัยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ วัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ จาก 3 มหาวิทยาลัยมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนทั้งด้านวิชาการ และกระชับความร่วมมือความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน กระตุ้นให้นักศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งด้านวิชาการ การทำวิจัยและภาษาต่างประเทศ เพื่อพัฒนาตัวเองและมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นสากล ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 Bogor Agricultural University  ร่วมเป็นอีกหนึ่งเจ้าภาพจัดงาน ในปีนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 25 โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดกิจกรรมทัศนศึกษา ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะฯ ในการยกระดับงานบัณฑิตศึกษา รวมถึงงานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ มุ่งผลิตผลงานวิจัยทั้งในเชิงพื้นฐานวิศวกรรมเชิงบูรณาการระหว่างภาควิชา ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนองค์กรต่างๆ นอกมหาวิทยาลัยทั้งใน และต่างประเทศ นอกจากนี้เพื่อยกระดับการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนักศึกษาที่เสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ ไม่ละทิ้งเจตคติที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด หรือสังคม หัวข้อในการนำเสนอ คือ  Population, Food, Energy, Environment to Sustainable Society ให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน และช่วยกันเสนอแนวทาง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยพิธีเปิดมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.30 น. ณ UNISERV มช. ประธานในพิธี คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต   รูปแบบการจัดงานมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ การทัศนศึกษาโดยแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมไปตาม 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1: ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จ.ลำพูน เส้นทางที่ 2: Visit CMU วัดพระธาตุดอยคำ โครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เส้นทางที่ 3: ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก หมู่บ้านแม่กำปอง และเส้นทางที่ 4: ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ จากนั้นจะมีกิจกรรม Workshop ทำงานกลุ่ม ตลอดจนเสนอผลงาน สะท้อนสิ่งที่ได้รับ และแนวทางแก้ปัญหาจากกรณีตัวอย่าง ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยนักศึกษา และคณาจารย์ จาก 3 มหาวิทยาลัยผู้ก่อตั้ง รวมถึงผู้แทนของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย 15 สถาบัน รวม 200 คน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี Mie University, Muroran Institute of Technology, Akita University of Art, Kyoto University, Gifu University  และ Waseda University ประเทศญี่ปุ่น Jiangsu University, Guangxi University, China Three Gorges University ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน,  Bogor Agricultural University ประเทศอินโดนีเซีย, Khabarovsk State Academy of Economic and Law ประเทศรัสเซีย และ Sungkyunkwan University ประเทศเกาหลีใต้]]>