วิศวฯ มช. จัดแข่งออกแบบอากาศยานไร้คนขับ ระดับนานาชาติ AAVC 2018

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดแข่งออกแบบอากาศยานไร้คนขับ ระดับนานาชาติ ประจำปี 2561  Autonomous Aerial Vehicle Challenge 2018 (AAVC 2018) ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2561  ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU-STeP)  และพื้นที่ศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านอากาศยานไร้คนขับ  ทั้งยังเป็นการพัฒนางานอากาศยานไร้คนขับของประเทศโดยตอบสนองนโยบายของชาติ และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
         AAVC 2018 เกิดจากความสำคัญในปัจจุบันที่กระแสโลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคโลกใหม่แบบ Knowledge-Based และยุค Digital Economy ที่มีการคิดค้น วิจัยและพัฒนา โดยใช้เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ตลอดจนการเกษตรต่าง ๆ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) หรือ Autonomous Aerial Vehicle (AAV) หรือ โดรน (Drone) ซึ่งมีรูปร่าง ขนาด รูปแบบ และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป เป็นอากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกลและบ้างก็บินได้ด้วยตนเองโดยอาศัยการโปรแกรมที่เป็นระบบซึ่งซับซ้อนกว่า นับเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในปัจจุบันมากขึ้น UAVs โดยมักทำหน้าที่ในภารกิจที่ยาก และอันตรายเกินกว่าจะใช้เครื่องบินที่มีคนขับ ทั้งยังมีการประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการทหาร เช่น การพาณิชย์ และด้านการเกษตร ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ประหยัดเวลา อีกทั้งมีความแม่นยำอีกด้วย
 
          การแข่งขัน AAVC ประจำปี 2561 (Autonomous Aerial Vehicle Challenge 2018-) จัดขึ้น   เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ นำเสนอวิทยาการด้านอากาศยานไร้คนขับ ดำเนินการพัฒนางานอากาศยานไร้คนขับของประเทศ  อันเป็นการตอบสนองนโยบายของชาติ และยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่องยกระดับการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนักศึกษาที่เสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ เจตคติที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด และสังคม ยกระดับงานบัณฑิตศึกษา หรือวิจัยเพื่อความเป็นเลิศ เพื่อผลิตผลงานวิจัยทั้งในเชิงพื้นฐานวิศวกรรมเชิงบูรณาการระหว่างภาควิชา ส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ นอกมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือด้านวิศวกรรมอากาศยานผ่านการจัดกิจกรรม และพัฒนางานด้านอากาศยานไร้คนขับโดยมี  รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพงศ์ ศรีกรารมณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอวกาศ จาก University of Glasgow  ประเทศสิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำ
            การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้นับเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งภาครัฐพยายามผลักดัน พร้อมให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี UAVs ยังถือเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีการเรียนการสอน รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่อย่างจำกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. มีวิสัยทัศน์ในการยึดมั่นในความเป็นเลิศทางวิศวกรรม (Foster Engineering Excellence)  จึงมีแนวคิดเพื่อพัฒนาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย รวม 18 ทีม โดยความร่วมมือของเครือข่ายการบิน ผลักดันนโยบายส่งเสริมเทคโนโลยีด้านอากาศยานไร้คนขับ จึงจัดการแข่งขัน โดยผู้เข้าร่วมจะมาจากสถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานด้านอากาศยานทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
 
]]>