ยุค Robotics & Automation กำลังครองโลก วิศวฯ มช. Kick off STEM Education เพาะพันธุ์ต้นกล้าใหม่ให้ “อยู่เป็น” ด้วยศาสตร์วิศวกรรมหุ่นยนต์

Robotics & Automation System คืออะไรกันแน่?อาจเป็นคำถามที่ใครหลายคนตอบว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาทำงานแทนที่มนุษย์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกเสียทีเดียว ความจริงนั้นระบบ หรือ นวัตกรรมข้างต้นมีไว้สนับสนุนการทำงานของมนุษย์ เพื่อเสริมศักยภาพ และคุณภาพการผลิต พร้อมกับลดต้นทุน ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันสูง ของอุตสาหกรรม แม้กระทั่งตลาดของสินค้า หรือบริการแต่ละประเภท ในโลกปัจจุบัน

การเรียนรู้ วิจัย และสร้างนวัตกรรมอันสามารถใช้งานจริง ตลอดจนก่อองค์ความรู้ส่งต่อแก่บุคคล เปรียบดั่งการเพาะต้นกล้าพันธุ์ใหม่ให้สามารถอยู่รอดในสภาพดินที่แปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ถือเป็นการปรับตัวก้าวให้ทันสมัยอีกทางหนึ่ง ขณะที่ประเทศไทยมีธงชัยมุ่งหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 คณะรัฐมนตรีเปิดไฟเขียวมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนี้โครงการส่งเสริม และพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ผ่าน STEM Education ให้แก่นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเกิดขึ้นด้วยนโยบายมุ่งพัฒนางานวิชาการด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ ครอบคลุมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักสูตร Robotics & Automation System นำพาองค์ความรู้ดังกล่าวถ่ายทอดไปยังนักเรียนระดับมัธยม ด้วยการเรียนการสอนแบบ STEM Education อันเป็นประตูสู่การพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์ เชื่อมสัมพันธ์ภาพที่ดีกับสถานศึกษา ในระดับ facilitator-facilitator โยงต่อการเรียนรู้จากระดับมัธยมสู่มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับโรงเรียนเพื่อเรียนรู้วิธีออกแบบเป้าหมาย กระบวนการ คุณลักษณะของกระบวนการสนับสนุน และเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ วิธีการประเมินผล คุณลักษณะบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทรัพยากร และต้นทุนที่ต้องใช้ ควบคู่การทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนแบบใหม่นี้ไปพร้อมกัน

ที่ผ่านมา การเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย โดยลงนามในข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยการนำของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในแนวทาง ประชารัฐมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ Aichi High School of Technology and Engineering (Aichi T & E) ประเทศญี่ปุ่น เชิญโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นพันธมิตรในการจัดกิจกรรม และขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย อันดำเนินไปเพื่อบรรลุเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนประสานงานการจัดกิจกรรมกับโรงเรียนนานาชาติจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบสนองการก้าวไปข้างหน้าของประเทศไปในตัว

เมื่อเดือนมีนาคม 2562 กิจกรรมย่อยแรกเกิดขึ้นภายใต้ The Robotics & Automation Summer Camp 2019 โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมเป็น Facilitator จัดกิจกรรม The Robotics & Automation Summer Camp 2019 ร่วมกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และ Aichi T & E ลักษณะการจัดกิจกรรม workshop ด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาของทั้งสองโรงเรียน ผ่านการบรรยายพิเศษ และลงมือปฏิบัติจริง ระหว่างวันที่ 26 – 31 มีนาคม 2562 ณ Aichi High School of Technology and Engineering ประเทศญี่ปุ่น


The Robotics & Automation Summer Camp 2019

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม – ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ร่วมกันจัดอบรมระยะสั้นหัวข้อ Robotics & Automation System แก่ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ในภาคเหนือ โดยแบ่งการอบรมเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 วันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2562 และรุ่นที่ 2 วันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุม 2 อาคารเพชรรัตน์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เพื่อเตรียมพร้อมเข้าแข่งขัน First Tech Challenge อันจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยผู้เข้ารับการอมรมได้เรียนรู้ พร้อมฝึกลงมือ ทำความเข้าใจกับเรื่องระบบอัตโนมัติ รวมถึงหุ่นยนต์ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้มีหน้าตา แขนขา หรืออวัยวะต่าง ๆ เหมือนกันทุกตัวดังที่หลายคนคิด ทำให้นักเรียนรู้จักประเภทของหุ่นยนต์ ลักษณะการทำงาน คุณสมบัติ โครงสร้าง หลักการทำงานด้วยขั้นตอนวิศวกรรม การควบคุม การออกแบบหุ่นยนต์แก้ไขภารกิจ การเขียนโปรแกรมควบคุมการหมุน motor รวมถึงการตรวจจับด้วย sensor และการต่อเติมหุ่นยนต์ด้วยอุปกรณ์เสริม ถ่ายทอดวิชาโดยคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พฤทธ์ สกุลช่างสัจจะทัย รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพงษ์ ว่องรัตนไพศาล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เวชยันต์ รางศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กานต์ ปทานุคม  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาย รังสิยากูล พร้อมด้วยครูรุ่งกานต์ วังบุญ ครูปิยะเปรมกมล วันติยา ครูภัณฑิรา เหลืองธนวัต ครูกัมพล กันทะแก้ว ครูสุชาครีย์ เพ็ชรอินทร์ และครูเอกชัย ใจวรรณ์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย รวมถึงทีมเจ้าหน้าที่ และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ของคณะวิศวฯ มช. เป็นทีมผู้ช่วย

FIRST® Tech Challenge เป็นการประลองด้านหุ่นยนต์ระดับโลก ที่เป็นมากกว่าการแข่งขัน นักเรียนต้องออกแบบ สร้าง เขียนโปรแกรม ควบคุมหุ่นยนต์ให้สามารถแก้ไขปัญหาในสนามแข่งได้ ความตั้งใจของ FIRST® Tech Challenge คือ เป็นโปรแกรมที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งการมอบประสบการณ์แปลกใหม่ น่าตื่นเต้นสำหรับนักเรียน การทำงานเป็นทีม โดยสร้างการเรียนรู้ผ่านหุ่นยนต์ที่สามารถบังคับได้ทั้งระบบอัตโนมัติ และระบบคอนโทรลเลอร์ แล้วพิชิตภารกิจที่กำหนด เปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ได้มีพื้นที่ในการใช้ความสามารถส่งเสริมความเป็นอัจฉริยะ และศักยภาพด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้ก้าวสู่สากล ทั้งยังพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้เรียน กระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนสร้างสรรค์ผลงาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะประดิษฐ์คิดค้นและรู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในประเทศไทยการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้นนับเป็นครั้งแรก โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จะเป็นเจ้าภาพร่วมจัดกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย พร้อมส่งทีมคณาจารย์ รวมทั้งบุคลากรร่วมเป็นกรรมการการแข่งขันออกแบบ และสร้างหุ่นยนต์ระดับเยาวชนดังกล่าว

ล่าสุดทีมแข่งขันหุ่นยนต์ Texas torque 1477 จาก College park high school, the woodlands, Texas ประเทศสหรัฐอเมริกา ประสานคณะฯ เพื่อนำนักเรียนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้าน Robotics ร่วมกับนักเรียนโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย กำหนดการจัดกิจกรรมในวันที่ 12 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้

การเดินหน้าโครงการทั้งหมด แม้จะวิ่งตาม “กระแส” แต่กลับมิใช่เพียงแค่กระแสที่ถูกปลุกขึ้นมาแล้วจากไป ในระยะอันใกล้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ซึ่งมนุษย์จำต้องเผชิญกับเรื่องในอนาคตนี้ แต่ต้องรีบลงมือเตรียมเสียแต่ปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความร่วมมือ และมองไกลที่เกิดขึ้น จึงนับเป็นพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้าน STEM Education ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเพื่อเชื่อมสู่มหาวิทยาลัยในอนาคต รวมถึงอนาคตของตัวผู้เรียนเอง ตลอดจนการอยู่รอด อยู่เป็น ในวิวัฒนาการของสิ่งรอบตัวทั้งหลายแหล่นั่นเอง

]]>