วิศวฯ มช. ร่วมเป็นสถาบันวิศวฯ นำร่อง โครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ภายในปี 65
การลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการข้างต้น เป็นข้อตกลงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษานำร่อง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อผลักดันให้ความร่วมมือการดำเนินโครงการดังกล่าวมีแนวทางชัดเจน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ตลอดจนพัฒนาการจัดการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันนำร่องให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานของ ABET ทั้งยังสนับสนุนให้ประทศไทยหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ระดับสากล พร้อมพัฒนให้ TABEE (Thailand Accreditation Body for Engineering Education)ก้าวสู่ระบบระบรองตามเกณฑ์ผลลัพธ์ เพื่อพร้อมเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาเทียบเคียงกับนานาชาติ
อนึ่ง โครงการดังกล่าวเริ่มจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาไทย ให้ได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ของสหรัฐอเมริกา นับแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘ มุ่งส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาไทยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลักดันหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ไทยให้ผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ และสมรรถนะในการทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งข้อกำหนดในการประกอบวิชาชีพระดับสากล ตลอดจนสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้ทั่วโลก
นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางสร้างภาคีเครือข่ายต่างประเทศ โดยหลักสูตรที่ถูกยอมรับมาตรฐานคุณภาพว่าเทียบเคียงกับนานาชาติ ซึ่งสามารถขยายความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งยังส่งเสริมการเข้าศึกษาต่อของนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในต่างประเทศที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนอันมีมาตรฐานคุณภาพการศึกษา ภายใต้ข้อตกลงระดับนานาชาติร่วมกัน ทั้งในประชาคมอาเซียน ตลอดจนประชาคมโลก
ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (The Association of Thai Professionals in America and Canada: ATPAC) และผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ได้แก่ การประชุมวิชาการและการจัดอบรมให้ความรู้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐาน คุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ตามเกณฑ์ของ ABET การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ในเชิงลึก เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการรับรอง การจัดให้ผู้เชี่ยวชาญเดินทางไป ตรวจรายงานการศึกษาตนเอง (Self-Study Report: SSR Review) และทดลองประเมิน (Mock Visit) ให้แก่ กลุ่มสถาบันอุดมศึกษานำร่อง เป็นต้น ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ฯ เห็นชอบพร้อมมอบหมาย ให้สำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษา จัดประชุมร่วมกับผู้แทนสถาบันอุดมศึกษานำร่อง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๒ ครั้ง คือ การประชุมหารือแนวทาง และมาตรการในการผลักดัน TABEE (Thailand Accreditation Body of Engineering Education) เข้าเป็นสมาชิกถาวรภายใต้ข้อตกลง Washington Accord เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ และประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ซึ่งมีมติให้ดำเนินการ 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นที่ ๑ ให้ดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรอง จาก ABET เร่งผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษานำร่องทั้ง 6 สถาบัน สมัครขอการรับรองจาก ABET ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ส่วนประเด็นที่ ๒ คือ เดินหน้าเรื่องการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของ TABEE (Thailand Accreditation Body for Engineering Education) ให้ ได้เป็นสมาชิกถาวรภายใต้ข้อตกลง Washington Accord โดยมีแนวทาง ได้แก่ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษานำร่องที่มีศักยภาพ และมีความพร้อม เพื่อสนับสนุน และผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาสมัครขอรับการรับรองจาก ABET ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ ขับเคลื่อนโครงการ ฯ อย่างต่อเนื่อง และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษานำร่องจัดกิจกรรมส่งเสริมการดำเนินโครงการฯ แก่สถาบันอุดมศึกษาอื่นอย่างน้อย ๔ แห่ง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ตามเกณฑ์ผลลัพธ์ตามแนวทางของ ABET พร้อมผลักดัน TABEE ให้เป็นหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอกระดับประเทศ โดยขอการรับรองจากคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ตลอดจนเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาไทยสมัครขอการรับรองประเมินมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ตามความสมัครใจ โดยมีอิสระเสรีภาพทางวิชาการในการยื่นขอการรับรอง ฯ จากหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอก ทั้งระดับประเทศ และระดับสากล พร้อมให้สถาบันนำร่องที่ขอรับการรับรองจาก ABET สมัครเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์ของ TABEE ไปในขณะเดียวกัน เนื่องจากการสนับสนุนให้ TABEE ได้เป็นสมาชิกถาวร (Full Signatory) ภายใต้ข้อตกลง Washington Accord มีเงื่อนไขว่าภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ต้องมีจำนวนหลักสูตร อย่างน้อย ๔ หลักสูตร จาก ๒ สถาบันอุดมศึกษาผ่านการรับรองแบบ Full Accreditation และมีการดำเนินงานที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
]]>