ห้อง ERC พลังช้างเหล็กกระทืบ Covid พร้อมใช้แล้ว @รพ.มหาราช เชียงใหม่
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. เปิดโครงการก่อสร้างห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ (Negative Pressure Room for Emergency Department) หรือ Emergency Room for COVID: ERC อันเป็นห้องตรวจคล้ายห้องฉุกเฉิน ณ โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ และ คณบดีคณแพทยศาสตร์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ เป็นประธานในการเปิดใช้พร้อมแถลงข่าวถึงห้องดังกล่าว
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2563 เวลา 11.00 น. ณ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการแถลงข่าว หร้อมเปิดใช้ “ห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ” อย่างเป็นทางการ โดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน แจ้งวัตถุประสงค์ และความจำเป็นของห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางข้างต้น จากนั้น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ.ดร. ณัฐ วรยศ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการและการสนับสนุนจากฝ่ายต่าง ๆ ด้านผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ เอ่ยถึงประเด็นห้องความดันลบช่วยในการดูแลผู้ป่วยอย่างไร นอกจากนี้ คุณวิวรรธน์ พงษ์เรืองเกียรติ นักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. และ คุณธนวัช โพคะรัตน์ศิริ ตัวแทนกลุ่มวิศวกรอาสาพหุภาคี อธิบายหลักการออกแบบสร้าง และการใช้งานเชิงเทคนิคของห้อง ERC ก่อนจะนำสื่อมวลชน ตลอดจนผู้มีเกียรติเข้าเยี่ยมชมห้องฉุกเฉินแยกโรคติดเชื้อทางอากาศแรงดันลบ( Negative Pressure Room for Emergency Department ) และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
การสร้างห้องดังกล่าวทำงานภายใต้ กลุ่มวิศวกรอาสาพหุภาคี คณาจารย์ นักศึกษาเก่าที่เป็นวิศวกรวิชาชีพ โดยให้คำปรึกษาร่วมออกแบบ พร้อมดำเนินการปรับปรุงห้อง และอาคารรวมถึงระบบปรับอากาศควบคุมเชื้อไม่ให้เข้าสู่ห้อง หรือระบายอากาศที่มีเชื้อออกไปบำบัด (Positive/Negative Pressure) ขนาดประมาณ 100 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยห้องผู้ป่วย 4 ห้อง และห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยรุนแรงอันอาจมีมากกว่าจำนวนห้องพักฉุกเฉินที่โรงพยาบาลมีอยู่ โดยทีมงานประกอบด้วย ผศ.ดร.ยศธนา คุณาทร ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (Gear 19) คุณวิวรรธน์ พงษ์เรืองเกียรติ (Gear 11) คุณสมศักย์ อัตประชา (Gear 18) คุณธนวัช โพคะรัตน์ศิริ (Gear 27) และทีมวิศวกรอาสา จากสมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมนักศึกษาเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงานทั้งหมด ทั้งทีมงานทางวิศวกรรม และแพทย์ ร่วมกันหารือ และตัดสินใจไปพร้อมกัน ด้วยข้อจำกัดด้านความเร่งรัดเรื่องระยะเวลา ซึ่งมีทั้งสิ้น 21 วัน นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2563 เป็นต้นมา เป็นการทำงานร่วมกันที่ดึงเอาเจ้าของพื้นที่ หรือ ผู้ใช้งานจริง เข้าเป็นทีมงานตั้งแต่ต้น เพื่อย่นระยะเวลา ทั้งยังได้ห้องที่ตรงตามความต้องการ เหมาะสม และสะดวกต่อการใช้งานจริง ด้วยระบบทุกอย่าง ทั้งการไหลของอากาศ การป้องกัน และฆ่าเชื้อแพร่สู่ภายนอก รวมถึงภายในห้องเองได้ถึง 100% มีอุปกรณ์ควบคุมแรงดันอากาศ และควบคุมไม่ให้อากาศที่สกปรกไหลออกไปด้านนอกอย่างรัดกุมกว่าทั่วไป ด้วยประตูสองชั้นที่มีห้องเล็กตรงกลาง โดยไม่เปิดพร้อมกัน เพื่อการันตีว่าอากาศจะไม่หลุดออกไปตามมาตรฐานเดียวกับ Clean room ระบบแห้ง วัสดุที่ก่อสร้าง เช่น ผนัง พื้น ฝ้าทั้งหมดล้างทำความสะอาด พ่นสารเคมีฆ่าเชื้อได้ ฉะนั้น แม้จะเป็นการสร้างเป็นเพียงห้องชั่วคราว แต่ก็สามารถใช้เป็นห้องถาวรในอนาคตได้ด้วย ซึ่งก่อสร้างจนสมบูรณ์เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2563