วิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
Mining and Petroleum Engineering
“เป็นสาขาหนึ่งของวิศวกรรมศาสตร์ที่สำคัญ ผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมเพื่อการเจริญเติบโตของประเทศ ต้องอาศัยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมพื้นฐาน เศรษฐศาสตร์ และศิลปะ ในการระบุที่ตั้งของแหล่งทรัพยากรแร่และน้ำมัน ออกแบบ ดำเนินการ ผลิตทรัพยากรออกมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ มีประสิทธิภาพและปลอดภัย”
ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จัดการสอน 2 หลักสูตร ประกอบด้วย
- หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) วิศวกรรมเหมืองแร่
- หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม.) วิศวกรรมเหมืองแร่และทรัพยากรธรณี (หลักสูตรนานาชาติ) ภาษาอังกฤษ M.Eng (Mining and Georesources Engineering) (International Program)
- คุณลักษณะของผู้ควรเรียนสาขานี้
เป็นผู้ที่มีพื้นทางทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ดี ชอบทำงานเป็นทีม สามารถรับมือและตัดสินแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้กับสภาพงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีความอดทนกับสภาพงานหนักและมีมนุษยสัมพันธ์สูง
- จุดเด่นของหลักสูตร
หลักสูตรของสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่มีทั้งแผนปกติและแผนสหกิจศึกษา ทั้งระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิต ถูกออกแบบให้สามารถทำงานวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรณีและโครงสร้างใต้ดิน ซึ่งคล้ายกับหลักสูตรในต่างประเทศ เช่น “geo-resource engineering” “earth-resource engineering” และ “geo-environmental engineering” เป็นต้น กระบวนวิชาในหลักสูตรนอกจากวิชาพื้นฐานด้านวิศวกรรมแล้ว ยังมีวิชาชีพด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ในหลักสูตร ประกอบด้วยวิชา การทำเหมืองและการออกแบบเหมืองเปิดและเหมืองใต้ดิน การเจาะและระเบิด การแต่งแร่และการใช้ประโยชน์จากแร่ การออกแบบโรงงานและอุปกรณ์งานเหมือง กลศาสตร์ของหินและธรณีเทคนิค เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรแร่และการประเมินโครงการ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังมีวิชาเอกเลือกทางด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม ประกอบด้วยกระบวนวิชา คุณสมบัติของหินแหล่งกักเก็บ คุณสมบัติของเหลวแหล่งกักเก็บ การหยั่งธรณีหลุมเจาะและประเมินโครงสร้าง วิศวกรรมการเจาะ กลศาสตร์ของการผลิตปิโตรเลียม วิศวกรรมแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม การวิเคราะห์และออกแบบหลุมผลิต การผลิตน้ำมันเพิ่มพูน (Enhanced Oil Recovery) และ การจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) และวิชาเลือกด้านวิศวกรรมเหมืองแร่อีกกว่า 30 วิชา เช่น วิชาการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือภาพถ่ายดาวเทียมในงานเหมืองแร่ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด โลหะวิทยา ธรณีสถิติ วัตุระเบิดสำหรับงานวิศวกรรม การบริหารงานเหมืองแร่ อุโมงค์ และวิศวกรรมความลาดชันของหิน เป็นต้น
- แนวทางการประกอบวิชาชีพ
นอกจากงานสำรวจ ออกแบบ ผลิต ควบคุมปริมาณ บริหารงานและให้คำปรึกษาในการทำเหมืองทุกประเภทแล้ว ยังสามารถทำงานเกี่ยวกับโครงสร้างใต้ดิน เช่น งานอุโมงค์ งานเจาะและผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งมีตำแหน่งงานหลากหลายในหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ข้าราชการในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ หรือวิศวกรสำรวจแร่ พนักงานรัฐวิสาหกิจในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่หรือวิศวกรสำรวจแร่ พนักงานในหน่วยงานเอกชนในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ วิศวกรโครงการหรือวิศวกรโครงสร้างใต้ดิน ผู้ประกอบการอิสระในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ หรือวิศวกรที่ปรึกษาโครงการหรือผู้รับเหมา และวิศวกรปิโตรเลียมในหน่วยงานรัฐและเอกชน
- ข้อมูลเพิ่มเติม
- วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
- ค่าธรรมเนียมการศึกษา 23,000 บาท
- รายละเอียดเพิ่มเติม
- วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
- ติดต่อภาควิชาได้ทางไหนบ้าง
- Tel : 053-944128, 944188
- Fax : 053-944186
- E-mail : mining@eng.cmu.ac.th
- Website : https://mining.eng.cmu.ac.th
- Facebook : https://www.facebook.com/miningandpetroleumengineeringcmu