วิศวฯ ถ่ายทอดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นมิตรพลังงาน สานต่อยอดที่ดอยสามหมื่น
ท่ามกลางหุบเขาหนึ่งในเนื้อที่อำเภอเวียงแหงและอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ “ดอยสามหมื่น” ผืนแผ่นดินที่อดีต “ฝิ่น” และ “ไร่เลื่อนลอย” เป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ปัจจุบันพืชเศรษฐกิจของคนในชุมชนเปลี่ยนไปเป็นพืชเมืองหนาวตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกลตัวเมือง และหนทางที่แสนทรหด คดโค้ง บ้างเป็นถนนลูกรัง บ้างเป็นดินแดง เมื่อฝนตกก็กลายเป็นโคลน ทำให้การขนส่ง “พืชทำเงิน” ของชาวบ้านเป็นไปอย่างยากลำบาก ผลผลิตบางอย่างตกค้างไม่สามารถส่งออกขายได้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทราบถึงปัญหา จึงนำผลงานวิจัยด้านวิศวกรรมการอบแห้งที่ได้สร้างไปสานต่อประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านสามหมื่น และบ้านน้ำรู ภายใต้โครงการ “การพัฒนาตู้อบแห้งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร้วมกับก๊าซ LPG เพื่อใช้ในชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าสาธารณะ” “เดิมทีแล้วเนื้อที่บนดอยนี้ทั้งหมดประมาณ 15,000 ไร่ ชาวบ้านปลูกฝื่นและทำไร่เลื่อนลอย แต่หลังจากปี พ.ศ.2517 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จมาเพื่อทรงพัฒนาผืนดินแห่งนี้ สร้างอาชีพใหม่ที่ดีแก่ชาวบ้าน สามหมื่น ต.เวียงแหง อ.เวียงแหง และบ้านน้ำรู ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาจึงหันมาปลูกพืชเมืองหนาว เช่น ลูกพลับ กาแฟ ท้อ บ๊วย แทน แต่การขนส่งค่อนข้างลำบากมาก ทำให้ขายได้แค่ 20 – 30 % เท่านั้น ที่เหลือค้างอยู่ในไร่ในสวน ราคาก็ตกและไม่คุ้มค่าขนส่ง” นายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ อดีตหัวหน้าโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำที่ 9 (ห้วยน้ำรู) ดอยสามหมื่น เปิดเผยในวันที่ ผศ.ดร.ศิวะ อัจฉริยวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ผู้บุกเบิกริเริ่มโครงการฯ นำทีมนักศึกษาไปลงพื้นที่รอบสามเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม โครงการนี้สืบเนื่องสานต่อมาจากปี 2555 คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับวิศวกรรมสถานได้เข้าไปอบรมการใช้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมติดตั้งให้ชาวบ้าน แต่ไม่เพียงพอกับผลิตผล ผลไม้ที่เก็บเกี่ยวมาได้จึงถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นจำนวนมาก ในปีนี้หัวหน้าโครงการฯ จึงพากลุ่มนักศึกษาตั้งแต่ ป.ตรี – ป.โท ไปลงพื้นที่กันอีก สองครั้ง ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในการใช้ตู้อบแห้งและการแปรรูปผลไม้ เพิ่มมูลค่าผลผลิต โดย วันที่ 21-22 มิ.ย. 2556 ทีมงานไปที่หมู่ 6 บ้านสามหมื่น จัดอบรมเรื่องการพัฒนาตู้อบฯ ส่วนครั้งล่าสุดเมื่อ 13 กรกฎาคม 2556 ก็ได้ลงลุยพื้นที่หมู่ 5 ในชุมชนบ้านน้ำรู Workshop เกี่ยวกับการติดตั้งและอบแห้งกล้วยโดยใช้ตู้อบแห้งฯ นายไพโรจน์ จันทร์แก้ว นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หนึ่งในผู้ร่วมปฏิบัติการ ให้ข้อมูล “จุดเด่นและการทำงานของตู้อบนี้ คือ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และ LPG หรือแก๊สหุงต้มให้ความร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานำมาใช้ทดแทนไฟฟ้า ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จะมีราคาดีขึ้น เก็บรักษาไว้ได้นาน สามารถส่งขายได้ในฤดูแล้ง” การลงมือทำกิจกรรมนี้ยังได้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่ห่างไกลความเจริญสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด มากไปกว่านั้น คือการเสนอหนทางทำมาหาเลี้ยงชีพให้ชาวบ้านช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน มิใช่เพียงแค่หยิบยื่นอุปกรณ์ที่จัดวางติดตั้งอย่างสมบูรณ์ให้ได้ใช้เท่านั้น แต่สาธิตตั้งแต่วิธีเตรียมกล้วยน้ำว้าที่จะนำไปอบแห้ง วิธีการใช้ไปจนถึงการบำรุงรักษาตู้อบด้วย นอกเหนือจากประโยชน์ในแง่การนำวิศวการไปบริการชุมชนแล้ว ยังมีข้อดีในแง่ของการสร้างจิตสำนึกที่ดีกับอาจารย์ และนักศึกษา ให้ได้เรียนรู้ว่าการทำเพื่อสังคมดีอย่างไร รู้จักเสียสละแถมให้โดยไม่คิดมูลค่า และรักชุมชน เล็งเห็นผลประโยชน์ส่วนรวม มาก่อนผลประโยชน์ส่วนตน การลงพื้นที่ในโครงการนี้ยังได้ทำให้กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมรับทราบข้อเสนอ ความต้องการของชุมชนเพิ่มเติม เพื่อนำเอามาต่อยอดอีกว่า ในเดือนสิงหาคมเป็นฤดูกาลของลูกพลับ อยากให้มีการอบรมเพิ่มเติม และต้องการให้มีการอบรมเกี่ยวกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อบแห้งและการจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น แม้การเดินทางไปดำเนินโครงการนี้มีอุปสรรค คือ ระยะทางที่ห่างไกลความเจริญ ถนนหนทางที่คดโค้งและเป็นดินแดง ชาวบ้านบอกว่าปกติหากจะขึ้นดอยสามหมื่นต้องมีรถทหารคุ้มกัน เพราะเป็นเขตพื้นที่สีแดง อันตรายพอควร นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารในการอบรม เพราะผู้เข้าอบรมบางคนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่ความลำบากเหล่านี้ไม่ได้ทำลายความมุ่งมั่นและตั้งใจของทีมงานแม้แต่น้อย “ถึงการเดินทางจะไม่สะดวกสบาย แต่ว่าสนุก ได้พูดคุยกับชาวบ้าน สร้างสัมพันธภาพต่อกัน ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยชุมชนให้มีรายได้และอยู่กันในสังคมอย่างเสมอภาค” หนึ่งในกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีกล่าว มากไปกว่านั้นยังมีสัญลักษณ์หนึ่งแห่งผลสำเร็จที่ชาวบ้านตอบรับกลับมาว่า “ ดี มีประโยชน์ เพราะว่าผลไม้อะไรที่ยังขายไม่ได้ ก็นำเอามาอบแห้งเก็บไว้ได้นาน ชอบใจมากที่ขึ้นมาช่วยในครั้งนี้ ขอบคุณมากครับ” น้ำเสียงและสำเนียงที่แม้จะฟังแปลกหูสำหรับคนในเมือง แต่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจของนายอะสะผะ โตจา ชาวบ้านน้ำรูเอ่ย ถือเป็นอีกเสียงสะท้อนเล็ก ๆ ที่ชื่นใจ และเป็นกำลังใจให้ทีมงาน ผู้เป็นหนึ่งในผลิตจากแดนวิศวฯ รั้วสีม่วงพร้อมจะทำเพื่อบริการสังคมอย่างไม่แบ่งแยกชนชั้นและระยะทางต่อไป