งานวิจัย ไม่ขึ้นหิ้ง ใช้ได้จริง วิศวะ มช. จับมือชุมชน สร้างเครือข่ายสถานีมิกกี้ พร้อมโกอินเตอร์ ติดตั้งที่ศรีลังกา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สวทช. ภาคเหนือ พัฒนาเครือข่ายสถานีตรวจวัดอัตโนมัติเฝ้าระวังน้ำป่า(มิกกี้ : Mix-Key) ติดตั้งในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย แล้วกว่า 5 สถานี ให้ประชาชนทราบข้อมูลปริมาณน้ำที่เกิดขึ้น เพื่อเฝ้าระวังน้ำป่า และบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม พร้อมขยายผลไปยังศรีลังกา จัดแถลงข่าว ณ หอเกียรติยศ ชั้น 6 อาคาร 30 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.
โครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช. ภาคเหนือ ใน ปี พ.ศ. 2555 เพื่อพัฒนาสถานีตรวจวัดน้ำอัตโนมัติที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่ประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยน้ำป่าเป็นประจำทุกปี และไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการคาดการณ์สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ปัญหาคือสถานีตรวจวัดที่มีอยู่เดิมนั้นมาจากหลายหน่วยงาน มีขนาดใหญ่ และราคาสูง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานหรือเคลื่อนย้ายตำแหน่งติดตั้งได้ ทำให้ไม่สามารถแปรเปลี่ยนตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อ.ดร. ภาสกร แช่มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาเชียงใหม่ จึงสานต่อพัฒนาเครือข่ายสถานีตรวจวัดอัตโนมัติเพื่อเฝ้าระวังน้ำป่าให้มีความเหมาะสมต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยออกแบบเครื่อง ให้มีขนาดเล็กและมีโครงสร้างที่ไม่กีดขวางทางเดินน้ำ จึงสามารถติดตั้งสถานีตรวจวัดได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งติดตั้งได้โดยสะดวก เพราะตัวเครื่องใช้ไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์และเก็บพลังงานสำรองในแบตเตอรี่ ชื่อของสถานีอัตโนมัตินี้เรียกว่า “มิกกี้ (MixKey)” ซึ่งหมายถึงการผสมผสานสิ่งที่สำคัญต่างๆเข้าด้วยกัน หลักการทำงานของเจ้า “มิกกี้” คือ สถานีตรวจวัดจะส่งข้อมูลที่ได้ เช่น ระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นไปยังเครื่องแม่ข่าย ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สาย ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างต่อเนื่องผ่านทาง เว็บไซต์ (Website) ทวิตเตอร์ (twitter:@FlashFloodTH) หรือแม้กระทั่งเป็นสมาชิกแฟนเพจทางเฟสบุ๊ค (https://www.facebook.com/MixKey.MaeChan) นอกจากการพัฒนาสถานีตรวจวัดอัตโนมัติ และติดตั้งลงในพื้นที่เพื่อรายงานผลให้ประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว โครงการนี้ยังเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ มีการจัดฝึกอบรมการใช้งานและดูแลรักษาให้กับตัวแทนประชาชน โดยมีตัวแทนผู้นำชุมชน ตัวแทนหน่วยอาสาเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตัวแทนวิทยุสื่อสารสมัครเล่น เข้ารับการอบรม และยังได้พัฒนาระดับการแจ้งเตือนในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน กล่าวคือ นอกจากสถานีตรวจวัดจะแสดงระดับการแจ้งเตือนการเกิดน้ำป่า ในระดับ เขียว (ปกติ) เหลือ(เฝ้าระวัง) และ แดง (อันตราย) แล้ว ยังได้แสดงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องลงบนแผนที่ออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์อีกด้วย ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสามารถคาดการณ์ผลกระทบที่มีถึงตำแหน่งที่ตนเองอยู่ได้ จากโครงการนำร่องติดตั้งสถานีตรวจวัด 2 สถานีในแม่น้ำจัน และด้วยความสนับสนุนของโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำ การเตือนภัยน้ำท่วม และเฝ้าระวัง สาธารณภัยแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย ซึ่งมี รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา เป็นหัวหน้าโครงการ จึงได้ขยายการติดตั้งเพิ่มเติมอีก 5 สถานี ในลุ่มน้ำแม่คำ อันจะทำให้การรายงานผลและคาดการณ์สถานการณ์ถูกต้องและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันโครงการได้ขยายออกสู่ต่างประเทศ ด้วยทุนสนับสนุนจาก มูลนิธิออกซ์แฟม (Oxfam Foundation http://www.oxfam.org) และบริษัทโอเพ่นดรีม (http://opendream.co.th/) ผู้สนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายสถานีตรวจวัดฯ เพื่อนำไปติดตั้งยังประเทศศรีลังกา ซึ่งประสบปัญหาด้านอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง โดย อ.ดร. ภาสกร พร้อมทีมงานจากหน่วยวิจัย OASYS Research Group และตัวแทนจากมูลนิธิออกซ์แฟม จะเดินทางไปติดตั้งสถานีตรวจวัดฯ จำนวน 2 สถานี ในวันที่ 14-18 ตุลาคม 2556 นี้ ประมวลภาพ : http://gallery.eng.cmu.ac.th/thumbnails.php?album=746]]>