ทำนุฯแบบบูรณาการ วิศวฯ.มช สานสืบพุทธศาสนาสร้างห้องน้ำวัดป่าแดงมหาวิหาร
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บูรณาการงานวิจัยและทฤษฎีทางวิศวกรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นเจ้าภาพสร้างห้องน้ำตามความต้องการของวัดป่าแดงมหาวิหาร ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
อีกหนึ่งมิติใหม่ของการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นำพาศาสตร์แห่งวิศวกรรมเข้าไปยังประโยชน์แก่วัด ซึ่งเป็นสถานที่ยึดรวมจิตและประกอบกิจแห่งชาวพุทธ ไม่เพียงแต่รวบรวมระดมปัจจัยเงินทุนด้วยการทอดผ้าป่าสามัคคีเท่านั้น แต่ยังเข้าไปดูแลออกแบบและควบคุมการก่อสร้างห้องน้ำให้แก่วัดป่าแดงมหาวิหารให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการใช้งาน ถูกต้องกระบวนการตามระเบียบจัดจ้างและตรวจรับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดิมทีแล้ว คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นผู้นำ “โครงการศึกษาประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหารอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของการทำงานวิชาการร่วมกันระหว่างวัด-ชาวบ้าน-มหาวิทยาลัย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุนโครงการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางานวิจัย กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ตั้งแต่สมัยของคณบดีท่านก่อน (รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง) ช่วงเดือนสิงหาคม 2552 เป็นต้นมา โดยรวมกับคณาจารย์ผู้ร่วมเป็นคณะวิจัยรวมถึงที่ปรึกษาจากภายในคณะฯ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ตลอดจนได้รับความกรุณาจากพระครูโฆสิตปริยัตยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดป่าแดงมหาวิหารตลอดระยะเวลาการทำวิจัย ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรมของวัดป่าแดงมหาวิหารและนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาจัดทำแผนแม่บทการใช้พื้นที่ของวัด ซึ่งพบว่าวัดป่าแดงมหาวิหารเป็นวัดประจำรัชกาลของพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย(พ.ศ.1984-2030) โดยเห็นได้ว่าพระองค์ทรงใช้วัดแห่งนี้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชมาบิดาและพระราชมารดา จากนั้นจึงก่อสร้างอุโบสถ ณ บริเวณที่ใช้ถวาย พระเพลิงฯ พร้อมสร้างเจดีย์ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชมารดา-พระราชบิดา นอกจากนั้นยังทรงผนวชที่วัดแห่งนี้ด้วย หลักฐานแห่งด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของวัดป่าแดงมหาวิหาร มีการก่อสร้างและประดับตกแต่งอย่างวิจิตร แต่เสื่อมสภาพและชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา มีหลักฐานด้านศิลปกรรมที่หลงเหลืออยู่และแสดงออกถึงฝีมือช่างชั้นสูงด้วยลวดลายปูนปั้นประดับ ซุ้มจระนำเจดีย์วัดป่าแดงหลวง(ร้าง) ทั้งนี้ลวดลายหน้าบันวิหารและลวดลายปูนปั้นประดับภายในวิหารก็ยังปรากฏดังหลักฐาน ที่มีการสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25ภายหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของวัดตามหลักฐานในทุกด้านแล้วจึงได้ออกแบบวางผังแม่บทเพื่อพัฒนาพื้นที่ของวัด มีกำหนดระยะการใช้งานผัง 12 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะต้นใช้ดำเนินงานในปีที่ 1-3 เพื่อสร้างแนวเขตและรักษาอาณาเขตวัด รวมถึงจัดกลุ่มพื้นที่ใช้งานอาคารต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบ เหมาะแก่การใช้งาน, แผนระยะกลางใช้ดำเนินงานปีที่ 4-6 เป็นการปรับปรุงทัศนียภาพ รักษาสภาพแวดล้อม และแผนระยะปลายดำเนินงานปีที่ 7-12 เป็นแผนการสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อพัฒนาการใช้พื้นที่ในวัดอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังได้ก่อสร้างกุฏิไว้แล้ว 1 หลัง
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มิได้หยุดโครงการวิจัยและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ณ วัดป่าแดงมหาวิหารไว้เพียงเพื่อการศึกษาที่เป็นแค่ในรูปเล่ม และหยุดไปพร้อมคณบดีท่านเก่าที่หมดวาระลง ในสมัยของคณบดีท่านปัจจุบัน (ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ) ก็ยังคงสืบต่อการเป็นศรัทธานุศิษย์ที่ดี ด้วยความต้องการของวัดที่ที่ส่งมายังมหาวิทยาลัย ประสงค์ให้จัดสร้างห้องน้ำแห่งใหม่ เนื่องจากห้องน้ำเก่าอยู่ในพื้นที่ต่ำลงไปจากวัด ทำให้ไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุหรือคนพิการที่ต้องเดินลงบันไดไปอีกหลายขั้น โดยวัดป่าแดงได้บอกบุญให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ความอนุเคราะห์เพื่อดำเนินการสร้างห้องน้ำตั้งแต่เริ่มจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ โดยเป็นความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในคณะ ทั้งภาควิชาวิศวกรรมโยธา,วิศวกรรมไฟฟ้า,วิศวกรรมอุตสาหการ,วิศวกรรมเครื่องกล, สำนักงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมมอบหมายให้นายวรพันธ์ ปัญญากาศ พนักงานปฏิบัติงานและวิศวกรของคณะฯ รับหน้าที่เป็นวิศวกร ออกแบบโครงสร้างและแบบแปลนห้องน้ำ ตลอดจนควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด เน้นแนวคิดหลัก คือ เป็นแนวล้านนาประยุกต์ตามรูปแบบของวัด อนุรักษ์และเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติที่โอบรอบ ถูกสุขลักษณะตามหลัก 5ส ในงบประมาณที่จำกัด
การออกแบบอาคารห้องน้ำหลังใหม่คำนึงถึงด้านต่าง ๆ โดยละเอียด นับแต่สถานที่ตั้งที่เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ของวัด ประโยชน์ใช้สอยเกิดแก่ทั้งศรัทธาสาธุชน และพระสงฆ์ สามเณร มีการแบ่งเป็นห้องน้ำชายหญิง ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ และห้องอาบน้ำสำหรับพระลูกวัดและรองรับผู้ปฏิบัติธรรมต่อไปในอนาคต มีการใช้ช่องลมจำนวนมากเพื่ออนุรักษ์พลังงาน ให้แสงสว่าง ใช้ไฟฟ้าน้อย และช่วยระบายลม ลดปัญหาเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีการเจาะช่องส่วนล่างด้านข้างอาคาร(นอกห้องน้ำที่ใช้ทำธุระส่วนตัว) ตอบสนองเรื่องความปลอดภัยไม่ให้เป็นที่ลับตาซึ่งง่ายต่อการก่อเหตุร้าย และเพื่อไว้สอดส่องดูแลกรณีมีผู้สูงวัยลื่นล้ม วัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้น รวมถึงสุขภัณฑ์ต้องได้มาตรฐาน มอก. และถูกตรวจสอบโดยภาควิชาวิศวกรรมโยธา เพื่อความแน่นอนเช่นกัน