ศ.วิศวฯ คว้ารางวัลผลงานวิจัยดีเด่น งานประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 3
ศาสตราจารย์ ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และหัวหน้าหน่วยวิจัยทางอุณหภาพ พร้อมคณะวิจัย ได้รับเกียรติบัตรผู้เสนอผลงานวิจัยดีเด่นของซุปราคลัสเตอร์ด้านพลังงาน จากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง ในการประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 3 วันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2557 ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ทนงเกียรติ เป็นผู้ชำนาญด้านกระบวนการทางความร้อนและพลังงาน ก่อนเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพลังงานและวัสดุ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี และมีผลงานวิจัยอย่างมากหลาย ทั้งยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจาณาผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงพิจารณาโครงการวิจัยของหน่วยงาน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนโยบายแผนพลังงาน ปัจจุบันยังทำงานให้กับหน่วยวิจัยทางอุณหภาพ อันอยู่ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสังกัดภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โครงการศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาพลังงานแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จังหวัดลำปาง มหาวิทยาลัยปทุมวัน เพื่อให้คำแนะนำทางวิชาการแก่หน่วยงานต่าง ๆ ด้านกระบวนการทางความร้อนและการประยุกต์ใช้งานให้มีประสิทธิภาพ เน้นทำการศึกษากระบวนวิธีการ การเพิ่มสมรรถนะการถ่ายเทความร้อนของอุปกรณ์ด้านความร้อน การออกแบบอุปกรณ์ การจำลองสภาพการทำงานของระบบและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางความร้อน รวมถึงการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ในรูปความร้อน นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายทำงานร่วมกับนักศึกษา เพื่อพัฒนางานวิจัยตลอดจนวิทยานิพนธ์ที่เป็นทั้งงานวิจัยและงานวิจัยประยุกต์ นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยที่สร้างอย่างต่อเนื่อง ด้านกระบวนการทางความร้อน การทำความเย็นในอุปกรณ์และกระบวนการทางพลังงาน ได้รับรางวัลและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก (ล่าสุดได้รับรางวัลอาจารย์นักวิจัยยอดเยี่ยม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) โดยได้ริเริ่มบุกเบิกเทคนิคการใช้สารทำงานผสม การใช้สนามไฟฟ้า คลื่นอัลตร้าโซนิคเพิ่มความสามารถในการถ่ายเทความร้อนอุปกรณ์ การพัฒนาเทคนิค Plasma Cracking เพื่อผลิตไบโอดีเซล ทั้งยังเป็นผู้นำการใช้เทคนิค Life Cycle Assessment มาคัดเลือกใช้อุปกรณ์และกระบวนการทางพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีโครงการที่ดำเนินการแล้ว กว่า 80 เรื่อง การทำงานของท่าน ถือเป็นการผลักดันงานวิจัยให้ถูกนำไปใช้อย่างครบถ้วนและกว้างขวาง ดังเห็นได้จากหลายโครงการที่ถูกนำไปขยายผล ใช้งานจริงเชิงพาณิชย์และสร้างประโยชน์แก่สังคม ทั้งในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หน่วยงานรัฐ และเอกชน โดยขับเคลื่อนในรูปแบบเครือข่าย ก่อเกิดความร่วมมือการทำวิจัยของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นท่านไม่ได้เพียงแต่หยิบยื่นอุปกรณ์ให้กับองค์กรต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดความรู้ และวิธีใช้เทคนิคต่าง ๆ ผ่านตำรา ผ่านการให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษา ผ่านการอบรม การสอน เพื่อ “สร้างงาน สร้างคน” ไม่ว่าจะเป็นคนของหน่วยงานอื่น ๆ นักศึกษาผู้ซึ่งจะเป็นบัณฑิตในอนาคต หรือนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพอย่างไม่หวงวิชาอันใดทั้งสิ้น ]]>