วิศวฯ มช.สาธิตการใช้ระบบเตือนภัยแม่น้ำสาย ชายแดนไทย-เมียนมา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.นำโดย อ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผู้พัฒนาระบบเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อเตือนภัยน้ำท่วม ร่วมกับ สวทช.ภาคเหนือ เข้าร่วมประชุมชี้แจงและสาธิตการใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยแม่น้ำสายแก่คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา  ณ โรงแรมสานมุนอาข่า จ.ท่าขี้เหล็ก พร้อมทั้งได้ตรวจติดตามการทำงานสถานีโทรมาตรวัดระบบน้ำขนาดเล็ก (MixKey) ที่ทำการติดตั้งไปแล้ว ณ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานีโทรมาตรวัดระบบน้ำขนาดเล็ก (MixKey) ถือมีตัวตนกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2554 ซึ่งอาจารย์ได้รับทราบปัญหาของจังหวัดเชียงรายว่ามีน้ำป่าหลากใน อ. แม่จันทุกปี ปีละหลาย ๆ ครั้ง ทุกครั้งส่งความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ดังนั้นจึงนำทีมวิจัย Oasys Research Group กำลังพลนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก และคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และโยธา ที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการเตือนภัย โดยใช้ระบบสารสนเทศและเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เชิงวิศวกรรมเข้าช่วยในการเตือนภัยพิบัติลงสำรวจพื้นที่ แล้วคิดค้นนวัตกรรมเตือนภัยให้ประชาชนรู้ตัว พร้อมอพยพได้ทันท่วงทีและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น Mix-Key  คือ สถานีตรวจวัดน้ำแบบโทรมาตรขนาดเล็ก ที่ใช้เฝ้าระวังน้ำป่า มีความหมายมาจากการผสมผสาน (Mix) และ สิ่งที่สำคัญต่างๆ (Key) เครื่องต้นแบบของ Mix-Key  เคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวด “ท่วมได้…ออกแบบได้”  ในโจทย์การออกแบบระบบเครือข่ายตรวจวัดและประมวลข้อมูลน้ำ  จัดโดยสำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ  (TCDC)   และเป็นเทคโนโลยีที่สมบูรณ์ ติดตั้งใช้งานจริงในพื้นที่อำเภอแม่จัน ลุ่มน้ำแม่จัน และลุ่มน้ำแม่คำ จังหวัดเชียงราย ด้วยการสนับสนุนของ สวทช.ภาคเหนือ และพันธมิตรอีกจำนวนหนึ่ง เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ออกแบบและถูกพัฒนามาอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ใช้งานและความต้องการของคนในชุมชน ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม   โครงสร้างไม่กีดขวางทางน้ำ ติดตั้งง่าย ราคาประหยัด สามารถปรับเปลี่ยนชนิดของเซนเซอร์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเก็บพลังงานสำรองในแบตเตอรี่ เครื่องมือวัดน้ำแบบโทรมาตรขนาดเล็กนี้ทำงานโดยส่งข้อมูลที่ได้จากอัลตร้าโซนิค เช่น ระดับน้ำปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้น แสดงระดับการเตือนภัยเป็นสีเขียว (ปกติ) เหลือง(เฝ้าระวัง) และ แดง  (อันตราย)  ไปยังเครื่องแม่ข่ายผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สาย ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างต่อเนื่องผ่านทางเว็บไซต์ (www.crflood.com) ทวิตเตอร์ (twitter: @FlashFloodTH) หรือแม้กระทั่งแฟนเพจเฟสบุ๊ค (https://www.facebook.com/MixKey.MaeChan) ปัจจุบัน Mix-Key  ถูกติดตั้งใช้จริงแล้ว 7 สถานี ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ได้แก่ สะพานฝายผาม้า, ศรีค้ำ ,สะพานบ้านฝั่งหมิ่น, สะพานบ้านด้าย, ศรีดอนมูล, สะพานบ้านป่าตึง, สะพานลานทอง และด้วยประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเยี่ยม ทำให้ Mix-Key ถูกพาบินลัดฟ้าไปประจำที่ประเทศศรีลังกาอีก 2 สถานี โดยการสนับสนุนจากภาครัฐ มูลนิธิภายนอก และองค์กรเอกชนมากไปกว่านั้น ยังเกิดการขยายผล ให้ Mix-Key ได้ทำงานร่วมกับหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา รวมเครื่องตรวจวัดน้ำของกรมชลประทาน 14 สถานีที่จังหวัดเชียงราย เพื่อให้ประมวลผลและแจ้งเตือนภัยร่วมกัน โดยในครั้งนั้นนอกเหนือจากการพัฒนา Mix-Key พร้อมนำไปติดตั้งแล้ว อ.ดร.ภาสกร พร้อมทีมงานยังได้นำเอาระบบสารสนเทศอย่างแผนที่ออนไลน์ที่เรียกว่า Openstreetmap http://www.openstreetmap.org เข้าจัดการแผนที่ลักษณะชุมชนอาสา ให้ชาวบ้านสามารถปรับปรุง เพิ่ม ลด และให้รายละเอียดสถานที่ต่างๆด้วยตัวเอง โดยนำนักศึกษาแบ่งกลุ่มลงพื้นที่ร่วมกับผู้นำชุมชน และชาวบ้าน เพื่อกำหนดพิกัดลงในแผนที่โดยใช้โทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชุมชนให้สามารถปรับปรุงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันได้เองในอนาคตอีกด้วย ประมวลภาพเพิ่มเติม : http://gallery.eng.cmu.ac.th/thumbnails.php?album=990]]>