[[[ Scoop ]]]ถือค้อน แบกปูน ตามรอย“สักกี่ครุย ที่ลุยโคลน” ชมรมลูกช้างเหล็กอาสา 57

 “เตรียมตัว เตรียมใจ แพคกระเป๋า แบกเป้ …ไปออกค่ายอาสากัน”

นี่คือสิ่งที่ เหล่านักศึกษาชมรมอาสาพัฒนาและบำเพ็ญประโยชน์ สโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มักรวมเพื่อนพ้องน้องพี่ทั้งในมหาวิทยาลัยและต่างมหาวิทยาลัย ออกไปสร้างสิ่งดี ๆ และพัฒนาสถานที่ตามชนบทต่าง ๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ทั้งในเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงเป็นประจำ โดยใช้วันหยุดช่วงปิดเทอม ในปีการศึกษา 2557 เหล่านักศึกษาชมรมอาสา ทำการ “ออกค่าย” ครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 – 20 กรกฎาคม 2557 ในครั้งนั้นได้นำพลพรรคไปยัง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน สร้างโรงอาหารและปลูกป่า ณ บ้านน้ำบ่อสะเป่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์เล็กๆ กับเครื่องปั่นไฟ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ส่วนชาวบ้านก็น่ารัก ให้ความร่วมมือและต้อนรับเป็นอย่างดี และแม้ในค่ายครั้งนั้นจะขาดแคลนน้ำ แต่ชาวค่ายทุกคนยังมีพลังใจเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดระยะเวลา 7 วัน พร้อมกลับมาด้วยความสุขอันพองโตในหัวใจ
ล่าสุด ค่ายอาสาเกิดขึ้นโดยการนำของประธานค่าย นายอาทิตย์  เลี่ยมแหลม ลูกช้างเหล็ก  สายวิศวกรรมโยธา ผู้ริเริ่มเขียนโครงการ ทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน ทั้งในเรื่องการระดมเงินทุน ออกแบบโครงสร้างอาคาร ด้วยความร่วมมือของว่าที่ลูกค่าย รวมถึงพลังน้ำใจจากศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์  คณาจารย์  ตลอดจนผู้สนับสนุนท่านอื่น ๆ  แม้ระหว่างดำเนินงานจะมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย  แต่ด้วยความมานะพยายาม และความสามัคคีของนักศึกษาเอง ในเวลาไม่นานก็สามารถระดมเงินทุน พร้อมทั้งเตรียมการ และจัดกิจกรรมนี้ขึ้นได้โดยสำเร็จ เป็นอันว่านักศึกษาพร้อมใจกันแบกเป้ พก“จิตอาสา” ออกค่ายอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22-28 ธันวาคม 2557 โดยมีจุดมาย เป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดนของประเทศที่ยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาและเครื่องนุ่งห่ม นั่นคือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองแขม ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมุ่งเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างอาคารโรงฝึกมือให้ชาวบ้านนั่นเอง ตลอดระยะเวลาที่ “ออกค่าย” นักศึกษาแต่ละคนได้ฝึกการทำงานร่วมกัน และนำเอาความรู้ความสามารถที่มีไปแปรเป็นแรงมือ แรงกายเพื่อสร้างประโยชน์ สิ่งที่ต้องเผชิญในแต่ละวันอาจมีทั้งความสนุกสนาน ไปจนถึงการ “ผิดแผน” หรือ เห็นต่างกันบ้าง  แม้กระนั้นเองทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็ล้วนแต่จะทำให้นักศึกษา รู้จักคิด วิเคราะห์ แก้ไข และหาทางออกให้สมดุลที่สุด เมื่อค่ายอาสานี้จบลงลูกค่ายหลายคนคงจำภาพรอยยิ้มเปื้อนเหงื่อได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากที่หลายคนได้แสดงความรู้สึกของการได้ใช้พลังจิตอาสาในครั้งนี้ “สำหรับค่ายแรกของผมนะครับ มันสนุกมาก ถึงงานมันจะเครียดจะเหนื่อย แต่ทุกคนก็เป็นกันเองและช่วยเหลือกันตลอด ผมจะไม่พลาดค่ายต่อๆไปของอาสาวิดวะมอชอแน่นอน” – ธนกฤต ขัดผาบ (วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี) “ ค่ายนี้เป็นค่ายที่ 2 ของผมครับ ผมเริ่มหลงรักค่ายอาสาวิศวฯ มช. ก็ตอนไปค่ายที่บ้านน้ำบ่อสะเป่คราวที่แล้ว มันเหมือนความฝัน ผมมีความสุขมาก ๆ ไม่อยากจะลงมาจากค่ายเลย ผมบอกกับตัวเองว่า ผมจะขอมาค่ายอาสาวิศวฯมช.  ไม่ว่าค่ายไหนไหนผมก็จะมา” – ณัฐสิฐ เมฆวิวรรธน์ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.)   “ก่อนอื่นต้องขอบคุณทุกคนที่ต้อนรับเป็นอย่างดีและรู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสมาร่วมค่ายอาสาของวิศวะ มช. ค่ายนี้อาจจะไม่ใช่ค่ายแรกในการสร้างและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมของเรา แต่มันก็เป็นค่ายที่น่าจดจำอีกค่ายหนึ่ง เพราะสร้างความประทับใจให้เราหลายอย่าง ทั้งการสอนเด็ก การร่วมแรงร่วมมือในการสร้างอาคาร ทุกคนล้วนแต่มีจิตอาสาและมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตั้งใจได้เป็นอย่างดี การเป็นจิตอาสาทำประโยชน์เพื่อสังคม เป็นการให้ที่ดีอย่างหนึ่ง และอีกอย่างเรานับถือน้ำใจนิสิตนักศึกษาทุกคนที่มีจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ถ้ามีคนแบบพวกเราอีกครึ่งประเทศคงจะดีมาก ประเทศจะได้เจริญ และคนที่ทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่แล้วก็จงทำต่อไป” – วลัยพร นามวี  (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)   “ รู้สึกดีใจที่ได้มาค่ายนี้ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆหลายๆอย่าง ทั้งระบบการทำงาน ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ทุกคนในค่ายน่ารักมาก อาจจะมีบางอย่างที่ยังบกพร่องไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะได้รับการแก้ไขในครั้งต่อๆไป สุดท้ายก็ขอขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาส ได้ร่วมค่ายดี ๆ แบบนี้ ขอบคุณสำหรับประสบการณ์และมิตรภาพดีๆ ถ้ามีโอกาสก็หวังว่าจะได้มาร่วมค่ายดีๆแบบนี้อีก ” – จริยา เรืองเรื่อ (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

 

ประธานค่ายอาสา กล่าวว่า  “ต้องขอบคุณคณาจารย์ เพื่อนๆพี่ๆน้อง ชาวอาสาพัฒนาทุกคนที่ช่วยกันลงแรง ลงใจ ผลักดันให้เกิดค่ายอาสาที่บ้านหนองแขมขึ้น  เพราะโดยลำพังตัวข้าพเจ้าคนเดียวก็ไม่อาจที่จะดำเนินการทั้งหมดได้ เมื่อเจอปัญหาก็ได้ทั้งเพื่อนๆช่วยกันแก้ไข รุ่นพี่ช่วยให้คำปรึกษา และรุ่นน้องช่วยกันฝ่าฟัน และด้วยการสนับสนุน  จากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รุ่นพี่ศิษย์เก่าใจดีทุกคน” ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวดีๆ จากเยาวชนผู้มีจิตอาสาจากรั้วช้างเหล็ก รวมถึงเพื่อนจากในและนอกมหาวิทยาลัย  สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและใจที่พร้อมให้แก่สาธารณะ ถือเป็นอีกภาพที่งดงามในสังคม มากกว่าประสบการณ์และความทรงจำดี ๆ ชมรมอาสาฯ ยังได้ให้คำมั่น ที่ยืนหยัดจะสร้างสรรค์งาน ผ่านค่ายอาสาบำเพ็ญประโยชน์อันเปี่ยมคุณค่าเช่นนี้ต่อไป ให้สมดังคำกล่าวติดปากของชาวค่ายที่ว่า

สักกี่ครุย ที่ลุยโคลน   

แม้โชกโชน ไม่หวั่นไหว

ด้วยสองขาเราก้าวไป

มาด้วยใจ…ไปด้วยกัน”

[gallery link="file" order="DESC" columns="4" orderby="ID"]
]]>