ทีม InnoFab วิศวฯ มช. คว้ารางวัลอันดับ 3! จากการแข่งขันเทคโนโลยี Exoskeleton ช่วยเหลือผู้พิการอัมพาตครึ่งล่างในการแข่งขัน Cybathlon 2024 ที่จัดโดย ETH Zurich
ทีมอาจารย์และวิศวกรจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมและต้นแบบ (InnoFab) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาหุ่นยนต์โครงกระดูก version 3 เข้าร่วมแข่งขัน Cybathlon 2024 โดยได้ส่งเข้าร่วม 2 ทีม ประกอบด้วย ทีมนักกีฬาผู้เป็นอัมพาตครึ่งล่าง 2 คนมาร่วมพัฒนาและฝึกฝนการใช้งานหุ่นยนต์ ได้แก่ คุณภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์ (ทีม ChiangMaiU EXO 1) และ คุณ วีระพล เครือผัน (ทีม ChiangMaiU EXO 2) สำหรับผลการแข่งขันนั้น ทั้งสองทีมได้ผ่านรอบคัดเลือกโดยมีคะแนนเป็นที่ 2 และ 4 จาก 6 ทีม ซึ่งในการแข่งรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ ทางทีม InnoFab คว้ารางวัลอันดับ 3 มาได้สำเร็จ
ไซบาธอน (Cybathlon) เป็นโครงการไม่แสวงหากำไรของ ETH Zurich ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่ท้าทายทีมต่าง ๆ ทั่วโลกให้พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับผู้พิการในการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยได้จัดการแข่งขันและกิจกรรมระดับนานาชาติ โดยทีมจากมหาวิทยาลัย/บริษัท/องค์กร ทำงานร่วมกับผู้พิการ ในการทำภารกิจต่าง ๆในชีวิตประจำวัน โดยมีการแข่งขันเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้การทั้งหมด 8 เทคโนโลยี จัดขึ้นทุก 4 ปี เปรียบเสมือน “โอลิมปิกทางเทคโนโลยีระดับโลกสำหรับผู้พิการและนวัตกร” จากทั่วโลกได้มาประลองการออกแบบนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีสุดล้ำสำหรับผู้พิการ เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการแพทย์และมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ BCI คลื่นสมองเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ สรีระอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเริ่มจัดเป็นครั้งแรกในปี 2016 และ ในปี 2024 นี้ เป็นการจัด แข่งขัน Cybathlon ขึ้นเป็นครั้งที่ 3
โดยทีม InnoFab คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมแข่งขัน Cybathlon 2024 เป็นครั้งแรก ในรายการ exoskeleton กับหุ่นยนต์ version 3 หุ่นยนต์โครงกระดูกภายนอกเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ที่เป็นอัมพาตครึ่งล่างสามารถยืน เดิน หรือขึ้นและลงบันไดได้ ใช้เวลาพัฒนามาเกือบสองปีเพื่อให้นักกีฬาผู้พิการอัมพาตช่วงล่างสามารถพิชิตด่านที่ถูกออกแบบมาเพื่อจำลองสถานการณ์ในชีวิตประจำวันรูปแบบต่าง ๆ ซึ่ง ณ วันนี้ นักกีฬาสามารถเดินได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ช่วยพยุงสำเร็จ ด้วยความเร็วของการเดินประมาณ 45-60 วินาทีต่อการเดินตรง 5 เมตร และมากไปกว่านี้ยังสามารถทรงตัวเองและบังคับหุ่นยนต์เอง เพื่อขนย้ายกล่อง (moving parcel), เดินฝ่าฝูงชน (crowd), และเปิดปิดประตู (doors) ได้ด้วย
โดยมีสมาชิกในทีม InnoFab คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย
- ศาสตราจารย์ ดร.ระดม พงษ์วุฒิธรรม
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เวชยันต์ รางศรี
- อาจารย์ ดร.ใฝ่ฝัน ตัณฑกิตติ
- อาจารย์ ดร.กฤต สุจริตธรรม
- นายมนตรี มาแสน
- นายคณิศร สารเชื้อ
สมาชิกในทีมช่วยจัดการแข่งขัน ประกอบด้วย
- Assoc.Prof. James Moran
- นายธันวาพล ผู้อยู่สุข
สมาชิกในทีมแพทย์และนักกายบำบัด จากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย
- รองศาสตราจารย์ นพ.สยาม ทองประเสริฐ
- รองศาสตราจารย์ ดร.นพ.สินธิป พัฒนะคูหา
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ. ปรัชญพร คำเมืองลือ
- อาจารย์ ดร.พรสุรีย์ คูวิจิตรสุวรรณ
- นักกายภาพบำบัด ณรงค์รัตน์ สวัสติกานนท์
- นักกายภาพบำบัด ชุติมา เมืองด่าน
- นักกายภาพบำบัด สุภานัน ใจแดง