วิศวฯ โยธา มช. ตั้ง CMU RailCFC ดันรากฐานรางไทย ก้าวไกลวิ่งไปทันโลก
เมื่อประเทศไทยกำลังมีแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ตามแนวทาง Thailand 4.0 ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้น คือ พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน และระบบ Logistics หรือการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีระบบรากฐานรางรถไฟคู่เป็นอีกหนึ่งยอดเขาที่เราควรไต่ไปให้ถึง เพราะรถไฟขบวนหนึ่งสามารถขนส่งสินค้า หรือผู้โดยสารจำนวนมาก แต่ใช้ต้นทุนต่ำ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยอธิการบดี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต มอบหมายและไว้วางใจในความเชี่ยวชาญเรื่องการฐานรากรางไทย โดยให้คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นทัพหน้า จัดตั้งศูนย์วิศวกรรมโยธา และระบบฐานรากขั้นสูง (Chiang Mai University Advanced Railway Civil and Foundation Engineering Center: CMU RailCFC) โดยมีรองศาสตรจารย์ ดร. พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ดังกล่าว พร้อมบริหารจัดการงบประมาณสนับสนุนกว่า 18 ล้านบาทจากมหาวิทยาลัยฯ
ทุกวันนี้ ระบบรางของประเทศไทยมีีทั้งหมด 4 ประเภท คือ รถไฟพื้นฐาน รถไฟในเมือง รถไฟความเร็วสูง และการคมนาคมด้านอื่น ๆ เส้นทางรถไฟพื้นฐานในบ้านเรามีราง 2 แบบ คือ รางเดี่ยว และรางคู่่ เดิมทีรางรถไฟระบบรางเดี่ยว มีระยะทาง รวม 3,684 กิโลเมตร ในขณะที่ระบบรางคู่มีเพียง 824 กิโลเมตร หากคำนึงถึงข้อดีของระบบรางคู่ ทำให้รถไฟสองขบวนเดินสวนกันได้ และเพิ่มความเร็วเป็น 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง เทคโนโลยีใต้ราง (Substructure Technology) ของประเทศจีนเป็น “แม่ครู” เพราะนี่คือประเทศเดียว ในโลกที่สามารถแปลงศักยภาพจากหัวรถจักรไอน้ำ เป็นรถไฟความเร็วสูงได้ในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วอายุคนเท่านั้น เมื่อเทียบดูแล้วเราสามารถทำวิจัยไปข้างหน้าว่าเราควรสร้าง หรือพัฒนาสิ่งใดต่อด้วยศาสตร์วิศวกรรมโยธา บวกกับองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น รางเหล็ก ชิ้นส่วนหมอนรองราง ตัวยึดราง หินโรยทางรถไฟ และระบบระบายน้ำของทางรถไฟให้เกิดประโยชน์
CMU RailCFC ได้รับความเกื้อหนุนจาก “พันธมิตรระบบราง” มีมหาวิทยาลัยจงหนาน และมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เจี่ยวตงเป็นอาทิ การทำงานของศูนย์แบ่งเป็น 3 ระยะใหญ่ ได้แก่ ระยะแรก อันเน้นความร่วมมือของพันธมิตร พร้อมจัดตั้งห้องปฏิบัติการขั้นสูงด้านเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ สามารถตรวจสอบไม้หมอนรถไฟ ฯลฯ แบบ One Stop Service ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันกับพันธมิตรต่างชาติ ต่างแดน
ระยะถัดมาเน้นเขียนข้อเสนอ และโครงการเพื่อขอทุนวิจัยระดับประเทศ เพราะเมื่อพิจารณาจากปัจจุบัน คาดการณ์ได้ว่ายังจำเป็นต้องสร้างระบบรางคู่เพิ่มอีก 6 – 7 สาย นั่นหมายถึงการใช้หินโรยทางรถไฟจำนวนมหาศาล งบประมาณก็เช่นกัน ขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการนำหินเก่าเสื่อมสภาพผสมกับหินใหม่ นอกเหนือจากประเด็นเรื่องประหยัดงบประมาณที่มีจำกัดแล้ว ยังถือเป็นการลด – งดทำลายทรัพยากรธรรมชาติด้วยการระเบิดเอาหินจากภูเขาลงด้วย กรณีนี้หากทำได้จริงย่อมส่งผลกระทบแง่บวกไม่น้อย ทั้งยังสอดคล้องกับ SDGs (Sustainable Development Goals) การจัดทำเป้าหมาย หรือแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง
โค้งสุดท้าย เป้าหมายในปี 2567 คือ การเดินหน้าเต็มสูบ ทั้งด้านการเรียนการสอน และวิจัยร่วมระดับนานาชาติ เพื่อผลิตบุคลากร ตามความต้องการของประเทศด้านระบบราง เป็นเสาหลักการพัฒนาหลักสูตรอบรมแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อ Upskill/Reskill ให้บุคลากรของหน่วยงานตามความประสงค์
เมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564 อธิการบดี พร้อมคณะผู้บริหาร มช. เข้ารับฟังรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน ของศูนย์ฯ โดยมี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร กล่าวต้อนรับ และหัวหน้าศูนย์ฯ บรรยายสรุป พร้อมนำเยี่ยมชมศูนย์วิจัยฯ ตลอดจนรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์ฯ ระยะที่ 1 หลังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัยฯ โดยได้จัดหาครุภัณฑ์ เช่น Smart Ballard Box, Dynamic/Stress-Path Soil Triaxial System แล้ว
นอกจากนี้ CMU RailCFC มองไกลไปถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่าง Wireless sensor ให้มีบทบาทต่อระบบราง ทีมวิจัยสร้างเครื่องตรวจวัด Smart Rock ฝังไว้ในรางประหนึ่งเป็นหินรองก้อนหนึ่ง จัดว่าเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยฯ ที่ได้เป็นโต้โผนวัตกรรมดังกล่าว ทำหน้าที่ตรวจความเสื่อมสภาพของรถไฟว่าเกิดความเสียหาย เสื่อมสภาพหรือไม่ มากน้อยเพียงไร ชำรุดหรือไม่ อย่างไร จุดไหน และประมวลผลเป็นตัวเลขที่แม่นยำส่งไปยังศูนย์รับผิดชอบแบบ Real time โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายก่อน แต่เราสามารถซ่อมบำรุงล่วงหน้า ลดความเสียหาย “ล่าช้า” หรือ “ชะงัก” และ “หยุดวิ่ง” ของขบวนรถไฟอันมีมูลค่าทุกวินาที ไม่ต้องสูญงบประมาณจำนวนมากเพื่อกอบกู้รถไฟพัง ทั้งยังประหยัดเวลา และเสริมประสิทธิภาพระบบขนส่ง ส่วนท่านใดอยากทราบเรื่องราวของศูนย์ฯ มากกว่านี้ สามารถเข้าไปอ่านบทความที่หัวหน้าศูนย์เขียนไว้อย่างน่าสนใจทาง https://cmu.to/RZ0b1 อนึ่ง จุดมุ่งหมายใหญ่ของ CMU RailCFC นอกจากขึ้นชื่อเรื่องระบบรางในประเทศแล้ว มากกว่านั้น คือ “ระบบรางไทยจะดังไปไกลระดับสากล เป็นเวิลด์คลาส (World Class) ด้าน Railway Track Foundation Structure” อย่างแน่นอน