วิศวฯ มช. บุกโลก Metaverse เปิดตัวแชมป์ Entaneer CMU Metaverse Contest สร้างอาณาจักรวิศวะสุดอลังในโลกเสมือนจริง
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวนักสร้างอัตลักษณ์ฉบับใหม่ในยุคดิจิตอลย่อโลก ผ่าน Entaneer CMU Metaverse Contest ประกาศผลพร้อมจัดพิธีมอบรางวัลแก่ทีมนักออกแบบ ตอบโจทย์ “โลกวิศวะที่คุณอยากให้เป็น” ผู้สร้างสรรค์ผลงานดีมีคุณภาพ แนวคิดโดดเด่น สนองการเรียนรู้สมัยใหม่นอกห้องเรียน นำไปต่อยอดเป็นโลกเสมือน ที่เข้าถึงได้จากทั่วทุกมุมโลก
Entaneer CMU Metaverse Contest เป็นผลงานจากความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท Gemini Blockchain จำกัด เดินหน้าฝึกปรือ สร้าง Metaverse บน The Sandbox platform พร้อมแข่งขันประชันฝีมือ และ แนวคิดของผู้เข้าแข่งขัน 10 ทีม ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โครงการนี้เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนานักศึกษา ให้มีทักษะสมัยใหม่ (Up Skill) โดยผลตัดสินผลการแข่งขันจะประกอบด้วยคะแนนจากกรรมการ และจากการโหวตจากคนดูตามลำดับ
รางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ ผลงาน Road to Engineer Gigital Life ของทีม Noname; นายอนุชา ชัยสุนทรโยธิน (วิศวฯ มช.) และนางสาว สิริวรรณ โปธา (โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย) ด้วย Concept อาณาจักรกว้างใหญ่หลายเลเยอร์ รอให้ทุกท่านเข้ามาผจญภัย โดยพัฒนาโลกใบเดิมให้มีความเสถียรมากขึ้น โทนสีการออกแบบให้ความรู้สึกถึงบุคลิกเข้มขรึม สู้งานของวิศวกร แต่ก็ยังปรับเปลี่ยนเป็นโทนสีสดใสในแบบอื่นที่ต้องการได้ พร้อมแลนด์มาร์กสำคัญของ มช. พื้นที่เรียนรู้สำคัญของคณะฯ เช่น หอนาฬิกา ME-Space ภาควิชาต่าง ๆ รวมถึงห้อง Slope ซึ่งล้วนอัปเกรดขึ้นอย่างทันสมัย ยกเอาการเรียนการสอนแบบเดิม (on-site) ภายในคณะให้เปี่ยมประสิทธิภาพมากขึ้น เสมือนดึงการเรียนออนไลน์ฉบับเก่าเข้าไปยังโลก Metaverse (โลกเสมือน/ จักรวาลนฤมิตร) สามารถรีโนเวทอาคารต่าง ๆ ที่ยังคงมีอยู่ในคณะฯ หรือเสริมเทคโนโลยีล้ำเลิศตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ผู้สอนมากขึ้น ที่สำคัญ คือ ใช้ Blockchain ที่มีความปลอดภัย และความถี่สูงสำหรับเก็บข้อมูล อีกทั้งการทำธุรกรรมการเงินของคณะฯ ด้วย Cryptocurrency ซึ่งสอดคล้องกับเทคโนโลยีข้างต้นอย่างแท้จริง รับชมผลงานได้ที่ https://shortest.link/3Nol
รองชนะเลิศอันดับที่ 1 พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาทตกเป็นของทีม Nigma Galaxy ด้วยผลงาน Entapia จากนายพีรวัส วงศ์สวัสดิ์ และนายอัครพันธ์ รัตนโกศ (วิศวฯ มช.) ภายใต้การออกแบบจากมุมมองรอบด้าน ได้แก่ การใช้พลังงาน การอยู่ร่วมกันโดยไม่ทำลายธรรมชาติ ใชัพลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์และลมได้ทั้งวันทั้งคืน ไร้สายไฟหรือเคเบิลระโยงระยาง ตึกเป็นลักษณะโค้ง เปิดพื้นที่ผิว Solar System ทั้งหมด มีความเรียบหรูทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พรั่งพร้อมด้วยพื้นที่บริการสาธารณะ สร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้ตื่นตาตื่นใจด้วยมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ระบบกระจายเสียงแบบ cinema พร้อมระบบบันทึกการสอนอัตโนมัติ ทุกที่นั่งมีคอมพิวเตอร์ติดอยู่ เป็นจอภาพแบบ Hologram สามารถกดเรียก หรือส่งข้อความลับหาอาจารย์ทันทีเมื่อนักศึกษาไม่เข้าใจเนื้อหาแต่ไม่ต้องการแสดงตัว ทั้งยัง Scan QR CODE เพื่อดาวน์โหลดบันทึกการสอนหมดคาบเรียนได้ แถมรองรับการทำงานทางวิศวกรรมทุกประเภท มี Work Space ใช้งานได้ตลอดเวลา รวมถึงพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ รองรับได้ 2,000 คน, Sport Zone สำหรับนักศึกษา รองรับ กีฬา indoor/ outdoor แม้แต่ E-SPORT ZONE มีตู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มอัตโนมัติ ลานจอดรถแบบพิเศษ แสดงสถานะที่ว่าง พร้อมระบบเคลื่อนย้ายนำรถไปจอดอัตโนมัติ ติดตามจุดจอดจาก GPS ตามไปท่องเที่ยวออนไลน์ได้ที่ https://shortest.link/3CZS
ทีมรองชนะเลิศอันดับที่ 2 พร้อมเงินรางวัล 6,000 บาทคะแนนเท่ากัน 2 ทีม ได้แก่ Maroon2 และOh my คอนซีลเยเร ซึ่งผลงาน Engineer to the Moon ของ Oh my คอนซีลเยเร สมาชิกประกอบด้วยนายณัฐวัฒน์ สิงห์คำ (วิศวฯ มช.) นางสาวณัฐณิชา สุขประภาภรณ์ (เภสัชศาสตร์ มช.) โดดเด่นด้วย Concept อันเต็มไปด้วยจินตนาการ จําลองว่าเราอาศัยบนดวงจันทร์ ใช้ความแปลกใหม่จากแรงโน้มถ่วงต่ำของดวงจันทร์ ทำให้กระโดดไกลได้นาน เหมือนกับลอยอยู่ ฉะนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงเป็นโลกล้ำสมัยเกินกว่าบรรยายได้ เพราะอุดมไปด้วยการประดิษฐ์คิดค้น มีความก้าวหน้าเหลือคณานับ ซึ่งเข้าไปท่องอาณาจักรบนดวงจันทร์ได้ทาง https://shortest.link/3CZX ส่วนผลงาน Sky Castle โดยทีม Maroon2 ของนางสาวดวงฤทัย แสงหงษ์ (วิศวฯ มช.) และนางสาว ศศิกาญจน์ สมศรี (วิทยาลัยสื่อฯ มช.) บ่งบอกถึงวิศวฯ มช. แห่งอนาคต พามนุษย์ย้ายไปอยู่บนเกาะลอยฟ้า ดินแดนของวิศวฯ คือ อาณาจักรแห่งความล้ำสมัย ผสานความรู้ทางวิศวกรรมและทรัพยากรธรรมชาติเข้าด้วยกัน ทำให้ประหยัดทรัพยากรโลก ทั้งยังมีหมุนเวียนให้จัดสรรปันใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ รับชมผลงานที่ https://shortest.link/3NoA
การมอบรางวัลมีขึ้น ณ หอเกียรติยศ ชั้น 6 อาคาร 30 ปีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. โดยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร เป็นประธาน มอบเงินรางวัลและใบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าแข่งขัน พร้อมเปิดเผยถึงโครงการว่าปัจจุบันมนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธกระแสการเติบโตของอินเตอร์เน็ตได้ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และบล็อกเชน (Blockchain) มากกว่านั้น คือ กระแสแห่ง NFT หรือ Non-Fungible Token หรือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ต่อยอดจาก Cryptocurrencies ในการซื้อขายสินทรัพย์ ทำให้เกิดการประยุกต์รวมเอาเทคโนโลยีข้างต้นผนวกกับคอมพิวเตอร์เกมเกิดเป็น Metaverse จำลองระบบนิเวศเสมือน (Ecosystem) ที่สมบูรณ์ประหนึ่งมีโลกคู่ขนาน ที่ผสานข้อดีของโลกจริง (Real world) และโลกเสมือน (Virtual World) เข้าด้วยกัน คนสามารถสร้างสรรค์สิ่งเป็นไปไม่ได้ในโลกจริง สะท้อนถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่ หลากหลายทั้งการสื่อสาร การแต่งกาย และการละเล่น การแข่งขันนี้จึงเป็นสนามเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อให้นักศึกษาได้เพิ่มทักษะ เพื่อก้าวตามโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว และเตรียมความพร้อมสู่การทำงานในโลก Metaverse ต่อไป
ผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด คณะผู้บริหารฯ จะนำไปพิจารณา คัดสรรชิ้นที่ตรงกับนโยบายพัฒนาคณะฯ ด้วย E-Faculty with Digital Technologies ซึ่งอาจมีการขยายผลจากเพียงต้นแบบที่ผู้เข้าแข่งขันนำเสนอ นำไปสู่การสร้าง Entaneer CMU Metaverse เต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ ให้ทุกคนไม่ว่าใครอยู่ที่ไหนได้มาเดินเล่นเที่ยวชมอาณาจักรวิศวฯ มช. โดยนั่งอยู่กับที่ ไม่ต้องเสียค่าเดินทางใดใด แม้วิศวฯ มช. อาจมิใช่คนแรกที่ก้าวเข้าโลก Metaverse แต่ก็เริ่มก้าวในระยะแรกเริ่มของยุคจักรวาลนฤมิตรที่กำลังเพิ่งถูกปลุกให้ตื่นนี่เอง