[[[Scoop]]] วิศวฯ รับน้องใหม่… “เราไม่ได้โหด”
“พวกคุณ!! ทำอะไรให้ไวหน่อยนะครับ เพื่อนรออยู่” เสียงที่เคร่งขรึมของรุ่นพี่วิศวฯ ดังกระหึ่มอยู่ในโสตของน้องใหม่ …บรรยากาศและภาพนี้ คงเป็นสิ่งที่ชวนให้นึกถึง เมื่อเราพูดถึงการรับน้องใหม่ของเด็กวิศวฯ มช. ทั้งที่แท้จริงแล้ว การรับน้องใหม่ของแดนเกียร์เชิงดอยแห่งนี้ ไม่ได้ “โหด” อย่างที่ใครหลายคนจินตนาการ
“แนวคิดหลักของการรับน้องเราเน้นอยู่ 2 ด้าน คือ การพัฒนานักศึกษา และการบริการชุมชน” นายสุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล (มิ๊ก) นักศึกษาปี 4 วิศวฯโยธา นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงการรับน้องของคณะฯ สิ่งที่เน้นทั้งสองด้านนั้น เป็นการขุดเอาขุมทรัพย์ทักษะ ความสามารถที่มีอยู่ในตัวทุกคนออกมาฝึกฝนให้เกิดประโยชน์ ตามคำขวัญของมหาวิทยาลัยที่ว่า “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา : บัณฑิตย่อมฝึกฝนตนเอง” และเน้นให้ทุกคนมีจิตอาสา ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ แก่ส่วนรวม ส่วน SOTUS เป็นเพียงระบบที่พี่น้องวิศวฯ ยึดถือเป็นบรรทัดฐานสังคมของเท่านั้น และที่สำคัญ คือ มันไม่ใช่การ “ว้าก” อย่างที่หลายคนเข้าใจ
SOTUS เป็นระบบหนึ่งของการปกครองน้องพี่ชาวเกียร์ ไม่ได้หมายถึงการ “ว้าก” หรือใช้กำลังและอำนาจข่มขู่รุ่นน้อง มันมาจากตัวอักษร 5 ตัว จับเรียงกันเป็นคำ ซึ่งทั้งหมดย่อมาจาก
S= Seniority หรือ อาวุโส หมายถึง ความเกรงใจเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน
O= Order หรือระเบียบวินัย สิ่งนี้จำเป็นมากในชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มในสังคม T= Tradition หรือประเพณี เป็นสิ่งที่เห็นว่าดี ถูกต้องและประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา U= Unity หรือความสามัคคี คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน S= Spirit หรือน้ำใจ หมายถึง การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือซึ่งกันและกันทุกคำล้วนมีความหมายดีอยู่ในตัวของมันเอง หากแต่คนมักตีความกันไปต่าง ๆ นานา คำที่มักเข้าใจกันผิด คือ Order สำหรับวิศวฯ หมายถึง ระเบียบวินัย ไม่ใช่การออกคำสั่ง และคำว่า Seniority คือ การเคารพผู้อาวุโส ในความหมายของชาวเกียร์นั้น “ผู้อาวุโส” หรือรุ่นพี่เองก็ต้องทำตนให้เป็นที่น่าเคารพ เป็นตัวอย่างที่ดีก่อนที่จะไปสอนรุ่นน้องเช่นกัน
“มิ๊ก” เปิดเผยว่า กิจกรรมเชียร์ของวิศวฯ ไม่ได้โหดอย่างที่หลายคนกลัว แต่แก่นแท้อยู่ตรงที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักกัน “เมื่อปีที่แล้วผมมีโอกาสได้เป็นสมาชิกสภานักศึกษา และไปตรวจห้องเชียร์ทุกคณะ ผมเห็นว่าห้องเชียร์ของเราไม่ได้โหดร้ายและเคร่งเครียดไปกว่าคณะอื่น ออกจะเบากว่าบางคณะด้วยซ้ำ เรามีประธานปกครองเพื่อดูแลน้อง ๆ เรื่องระเบียบวินัย และประธานเชียร์ เพื่อควบคุมดูแลเรื่องการร้องเพลงเชียร์ ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและทิศทางเดียวกัน ส่วนทางสโมฯ ก็ดูแล สนับสนุนเรื่องการจัดกิจกรรม รวมไปถึงความปลอดภัยของทุกคน ทั้งพยาบาล ยา เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน ที่สำคัญเราควบคุมให้ทุกกิจกรรมเป็นไปตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัย การ “ว้าก” เป็นแค่กลไกเล็ก ๆ ที่เราจัดไว้ ให้น้อง ๆ รู้รักสามัคคี มีระเบียบ ซึ่งมีกฎคือ ใช้ภาษาไทยกลางที่สุภาพ ห้ามถึงเนื้อถึงตัวน้อง ดังนั้น ทุก ๆ วันบรรยากาศในห้องเชียร์จะมีทั้งแบบทางการที่ต้องเป็นระเบียบ และกิจกรรมสันทนาการ ละลายพฤติกรรมที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะด้วย” มิ๊กเล่าอีกว่า “น้อง ๆ คงไม่เคยได้เห็นอีกด้านว่า การที่เราจะต้องปกครองคนหมู่มากนั้นไม่ได้ง่ายเลย รุ่นพี่บางคนต้องแสดงมาดเข้ม เคร่งขรึม เสียงดัง นั่นคือ “บทบาท” ที่ได้รับ ใช้วางตัวให้เหมาะสมกับหน้าที่ปกครองรุ่นน้อง หลายครั้งรุ่นพี่หลุดว้ากเป็นภาษาท้องถิ่น คำเมืองหลายคำหลุดออกมาจากปาก ณ ขณะกำลัง “ทำเคร่ง” ต่อหน้าน้อง ๆ จึงต้องกันคนที่ “แอคหลุด” ออกมา จริงแล้วเป็นฉากที่ขำมากแต่ “ The show must go on” คนที่สติดีอยู่ก็ทำหน้าที่ต่อไป
นอกเหนือจากกิจกรรมพี่น้องสัมพันธ์ และห้องเชียร์แล้ว ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของการรับน้อง นั่นคือกีฬาประเพณี สานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างคณะ โดยปีนี้วิศวฯ เป็นเจ้าภาพ ได้แก่ บาสเกตบอล แข่งกับคณะบริหารธุรกิจ และอุตสาหกรรมเกษตร กับฟุตบอลที่จะแข่งกับฝั่งสวนดอก ชิงถ้วยรางวัลจากอธิการบดี ในช่วงวันที่ 19 – 20 มิ.ย. อีกอย่างหนึ่ง คือ กิจกรรมวิศวฯบำเพ็ญ ปีนี้เราจะไปล้างถนนสุเทพ ในวันที่ 22 มิ.ย. นี้ด้วย”ในช่วงเปิดปีการศึกษาใหม่ เราจะได้เห็นนักศึกษาปี 1 แขวนป้ายชื่อ หรือมีของประดับตกแต่งชุดนักศึกษา จะเด่นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเป็นศิลปินของกองทัพปีแก่ วิศวฯ เองก็เช่นกัน “เราจะมีแฟ้มที่ติดชื่อเล่น พร้อมรหัส สำหรับน้องปี 1 ทุกคน เหตุที่ต้องให้ถือไปทุกที่ เพราะนอกจากแฟ้มจะใช้ใส่เอกสารได้ เรายังจะได้รู้จักกัน บางทีออกไปข้างนอกแล้วรุ่นพี่ ไปเจอก็จะได้รู้ว่านี่คือน้องที่คณะฯ ได้รู้ด้วยว่าน้องคนไหนเป็นสายรหัสใคร แล้วก็จะได้
เทคแคร์ดูแลกัน” นายกสโมสรนักศึกษา วิศวฯ มช.คนปัจจุบัน ขอฝากถึงน้อง ๆ และผู้ปกครองว่า “ ผมขอยืนยันอีกครั้งว่ากิจกรรมรับน้องของเราไม่ได้โหดร้ายอย่างที่ หลายคนกลัวหรือแอนตี้ ทุกกิจกรรมคณบดี (ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ)และรองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา (รศ.ดร.เชี่ยวชาญ ลีลาสุขเสรี) ให้ความสำคัญ เป็นผู้กลั่นกรอง อนุมัติให้จัด ขอให้ผู้ปกครองลองเปิดโอกาสให้น้องปีหนึ่งได้มาเข้าร่วมและอยากให้ น้อง ๆ มาร่วมกิจกรรมรับน้อง ซึ่งเป็นก้าวแรกของการได้รู้จักเพื่อนใหม่จากต่างจังหวัด ต่างโรงเรียน ซึ่งเราเองก็จะได้ร่วมทำงานทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียนในวันข้างหน้าด้วย”
อย่างไรก็ตาม หากมีการรับน้องที่ไม่เหมาะสม ผู้ปกครองหรือนักศึกษา สามารถแจ้งมายังฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาของคณะฯ ที่ 098-7729163
หรือ Call-center ของมาหาวิทยาลัย งานกิจกรรมเสริมหลักสูตร โทร. 053-943061 วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-22.00 น. ,สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 053-943052เวลา 08.30-24.00 น. และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 053-943053ในเวลา 08.30-24.00 น.
“การรับน้อง” เป็นเพียงกลไกอย่างหนึ่ง ของก้าวแรกในการเป็นเฟรชชี่ เป็นการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อน พี่ น้อง มากไปกว่านั้น มันเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่หล่อหลอมให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้รู้จักคำว่า “สังคม” และการทำงานร่วมกับผู้อื่นในโลกแห่งความเป็นจริง การทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ จะไม่ทำให้เสียการเรียน หากรู้จักบริหารเวลา รู้จักเลือกตัวอย่างที่ดีมาเป็นแบบอย่าง เช่น “มิ๊ก” นายกสโมฯ ที่ถือเป็นต้นแบบที่ดีของนักศึกษาผู้รักกิจกรรม ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.86 นอกจากนั้นเด็กทุกคนควรเข้าใจบทบาทของตนทั้งที่เป็นนักศึกษา เป็นศิษย์ เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ กระบวนการในทุกกิจกรรมของวิศวฯ ล้วนแล้วแต่มีแก่นแท้อันให้ประโยชน์แก่นักศึกษาในด้านการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นปริญญาอีกหนึ่งใบที่หาซื้อไม่ได้หากไม่ได้ลองเรียนรู้ นั่นคือ “ปริญญาชีวิต”