Thailand Research Expo 2023 : Engineering CMU join Research University Network (RUN)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ร่วมแสดงผลงานวิจัยและเสวนาในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ครั้งที่ 18 ในบูธเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยของประเทศไทย (Research University Network : RUN) ภายใต้หัวข้อ “Roles of Research towards Net Zero Ambitions” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

โดยนำเสนอ 3 ผลงานเด่น ดังนี้

  • “การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS)​ : เทคโนโลยีปลายสุดสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน” ของศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์ และคณะ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนันท์ พรหมสุข เป็นตัวแทนร่วมเสวนาและบรรยาย กล่าวถึง เทคโนโลยี CCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้มากที่สุด จึงเป็นเทคโนโลยีปลายสุดที่จะปิดเกมส์ในเรื่องก๊าซเรือนกระจก โดยเทคโนโลยีนี้จะเป็นการกักเก็บก๊าซ CO2 ที่เกิดขึ้นจากแหล่งต่างๆ เก็บลงไปในชั้นหิน เกิดการทำปฏิกิริยากับน้ำเค็ม เปลี่ยนแปลงเป็นแร่ชนิดใหม่ จึงเป็นการกักเก็บอย่างแน่นอนและถาวร ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มทำการวิจัยในพื้นที่ของเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหน่วยงานพันธมิตรมีเป้าหมายที่จะดำเนินการวิจัยด้านเทคโนโลยี CCS ให้มีความครอบคลุมทั้งระบบทั้งการดักจับ ขนส่ง และกักเก็บ รวมถึงความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์เพื่อให้เกิดห่วงโซ่ในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

สามารถรับชมบันทึกวิดิทัศน์การเสวนาได้ที่ https://fb.watch/mqQNyq3fQ0/

  • “นวัตกรรมการเกษตรรับมือโลกร้อนวันนี้ สู่การกักเก็บคาร์บอนแห่งโลกอนาคต” บรรยายและเสวนาโดย ศาสตราจารย์ ดร.พวงรัตน์ แก้วล้อม กล่าวถึง การกักเก็บคาร์บอนในภาคการเกษตร ในปี 2559 หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในส่วนของภาคเกษตร ได้มีการปล่อยก๊าซ 14.7 ล้านตัน แต่ภาคเกษตรนั้น ยังมีสิ่งที่ช่วยกักเก็บคาร์บอน คือ ป่าไม้ ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 91.13 ล้านตัน หากสามารถเปลี่ยนมิติจากการปล่อยคาร์บอนเป็นการกักเก็บจะเป็นวิธีที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศได้เป็นอย่างมาก

ศ.ดร.พวงรัตน์ ได้ทำการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในดิน โดยขั้นแรก ต้องทำการฟื้นฟูสภาพของพื้นที่การเกษตรทั้งด้านดินและน้ำ เพื่อพัฒนาการกักเก็บคาร์บอนในดิน สิ่งที่สำคัญในการปลูกพืชคือดิน ดินที่ดีคือดินที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ในการย่อยซากพืชซากสัตว์ และช่วยในการเปลี่ยนสารอินทรีย์ไปเป็นคาร์บอนในดิน อีกทั้งยังสามารถสลายสารเคมีตกค้างได้ ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางด้าน Soil Health เป็นอย่างมากเพราะดินที่ดี มีจุลินทรีย์ปริมาณมาก นอกจากจะช่วยให้ต้นไม้เติบโตดีแล้ว ยังสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ดีอีกด้วย

วิธีที่สามารถช่วยฟื้นฟูคุณภาพของดินนั้น มีหลายวิธี เช่น

1. การใช้ถ่าน Bio Char

2. การปลูกพืชผสมผสาน ทำให้เกิดจุลินทรีย์ที่หลากหลาย ธาตุอาหารที่หลากหลาย

3. การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง (Alternate wet and dry: AWD) เป็นวิธีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในนาข้าว

4. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับฤดู ภูมิอากาศ เช่น พืชพื้นเมือง เป็นต้น

ในส่วนของแหล่งน้ำ ปัจจุบันภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ศ.ดร.พวงรัตน์ ยังได้ทำการวิจัยด้านการขุดคลองสำหรับการกักเก็บน้ำกลับไปสู่ดิน เพื่อให้พื้นที่ชุ่มไปด้วยน้ำ และยังศึกษาการปลูกพืชในคลองเพื่อเป็นการกำจัดสารเคมีในน้ำ ได้น้ำที่สะอาดในการใช้กับพื้นที่เกษตร เป็นการช่วยพัฒนาพื้นที่การเกษตร และพัฒนาดินให้มีคุณภาพที่ดีเหมาะแก่การปลูกพืชและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกทางหนึ่ง

สามารถรับชมบันทึกวิดิทัศน์การเสวนาได้ที่ https://fb.watch/mqQKpsb84A/

  • “การพัฒนาแนวทางติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและการจัดทำต้นทุนส่วนเพิ่มของเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC)” บรรยายโดย รองศาสตราจารย์วงกต วงศ์อภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)- อบก. กล่าวถึงแนวทางการติดตามการลดก๊าซเรือนกระจกและต้นทุนต่างๆ

แผนการดําเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMA) ดำเนินการระหว่าง 2013-2020 สามารถดำเนินการได้ดีกว่าเป้าหมาย ส่วนแผนในปัจจุบันที่ประเทศไทยได้เสนอคือ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ใช้ในปี 2021-2030 โดยในปีที่ 2030 มีเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30 หรือ 170 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันทำดำเนินการได้ 1 ใน 3 จึงต้องการเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เช่น เทคโนโลยี CCS เทคโนโลยีไฮโดรเจน เป็นต้น

ต้นทุนของเทคโนโลยีในการใช้ลดก๊าซเรือนกระจก ประกอบไปด้วย 3 รูปแบบ คือ

  1. เทคโนโลยีที่มีราคาถูกอยู่แล้ว ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที
  2. เทคโนโลยีที่มีราคาแพงกว่าเทคโนโลยีเดิมไม่มาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
  3. เทคโนโลยีที่มีราคาแพงมาก ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังไม่ควรส่งเสริม และปัจจุบันยังขาดข้อมูลของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ในส่วนของการวัดผล องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในนามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานร่วมกัน ได้จัดการคัดเลือกมาตรการในการดำเนินงาน และมีการดำเนินการวัดผลโดยใช้กระบวนการวัด รายงาน และทวนสอบ ที่เรียกว่า MRV โดยรายละเอียดสามารถเข้าไปศึกษาได้จากทางเว็บไซต์ของ อบก. ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มเก็บข้อมูลเพื่อวัดและติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจก เริ่มตั้งแต่ปี 2556 และลดก๊าซเรือนกระจก ได้สูงสุด 64 ล้านตัน ในปี 2562 หลังจากนั้น ในปี 2562 – 25663 เกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้มีการใช้พลังงานต่างๆ ลดลง จึงทำให้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกมีค่าลดลง

สามารถรับชมบันทึกดิวิทัศการเสวนาได้ที่ https://fb.watch/mqQSznz4bY/

ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นผลงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและทิศทางงานวิจัยเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 13 (Climate Action) ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ที่ทุกประเทศตื่นตัว ร่วมกันผลักดันโดยมุ่งหวังว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2573