Chiang Mai CCS เข้าหารือกรอบความร่วมมือระดับนานาชาติกับ Korea Institute of Geoscience and Mineral Resources
กลุ่มวิจัย Chiang Mai CCS คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล หัวหน้ากลุ่มวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนันท์ พรหมสุข อาจารย์นักวิจัย เเละนักวิจัยบัณฑิตศึกษา เข้าเยี่ยมคารวะและประชุมหารือกรอบงานวิจัยในระดับนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีการดักจับเเละกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) กับ Korea Institute of Geoscience and Mineral Resources (KIGAM) สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยหลักของชาติด้านทรัพยากรธรณีศาสตร์และแร่ ซึ่งปัจจุบันรับผิดชอบงานวิจัยด้าน CCS ของชาติด้วย ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่ เมืองแดจอน สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีผู้ให้การต้อนรับ ประกอบด้วย Dr. Seung-Woo Lee, Director of Climate Change Response Division พร้อมด้วยDr. Byoung Yeop Kim, Director of Marine Geology & Energy Division และDr. Kue-Young Kim, Head of CO2 Geological Storage Research Center และDr. Yun Seok Choi, Head of Marine Geology & Geophysical Exploration Research Center
ในการเข้าร่วมประชุมหารือกรอบงานวิจัยในระดับนานาชาติครั้งนี้ เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการแนะนำ และเชิญชวนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการร่วมมืองานวิจัยด้าน CCS ระหว่างกันในสองเรื่องคือการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นหินแหล่งกักเก็บ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเส้นใยแก้วนำแสงในการตรวจเฝ้าระวังการรั่วไหลของคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกักเก็บ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล ได้นำเสนอภาพรวมงาน CCS ของไทย “Thailand CCS Activities” และภาพรวมของกลุ่มวิจัย Chiang Mai CCS และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนันท์ พรหมสุข อาจารย์นักวิจัย จากนั้น นายนพรุจ ซื่อตรง นักวิจัยระดับปริญญาโทสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้นำเสนอแผนงานวิจัยหัวข้อ “Toward More Affordable MMV: The Need of Fiber Optics” ตามด้วย นายวรเศรษฐ์ ธนศักดิ์สุขทวี นักวิจัยระดับปริญญาเอกสาขาวิชาวิศวกรรมพลังงาน ได้นำเสนอแผนงานวิจัยหัวข้อ “Toward Improvement on CO2 Solubility Trapping: A Visualisation at Lab-Scale” จากนั้นทั้งสองฝ่ายได้หารือเเนวทางการทำงาน และตกลงเห็นด้วยกันในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MoU ในเป็นเครื่องมือและแนวทางในการทำงานต่อไป