อาจารย์วิศวฯ มช. สุดเจ๋ง ! คนไทยคนแรกที่ไปถึงขั้วโลกใต้ ร่วมกับกลุ่มวิจัยชั้นนำ ทำพันธกิจในโครงการ IceCube Upgrade
เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เป็น 1 ใน 23 นักวิจัยที่ร่วมปฏิบัติงานกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ ระดับโลกกว่า 350 คน จาก 14 ประเทศ 58 สถาบัน ซึ่งภารกิจสำคัญคือการขุดเจาะน้ำแข็ง ณ สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ ใจกลางทวีปแอนตาร์กติก สูงประมาณ 2,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม ได้เดินทางถึงหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ ที่ตั้งอยู่ ณ ละติจูด 90 องศาใต้ และได้เริ่มปฏิบัติภารกิจร่วมกับวิศวกรจากนานาชาติ ในการเจาะน้ำแข็งเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดนิวทริโนใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ โดยจะใช้เวลาปฏิบัติงาน ณ ขั้วโลกใต้ประมาณ 2 เดือน
โครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นี้ มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล เป็นหัวหน้าโครงการ โดยนอกจากจะได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง วช.-สวทช. กลุ่มวิจัยระบบนิเวศโลก-อวกาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยความร่วมมือกับ US National Science Foundation (NSF) และ Wisconsin IceCube Particle Astrophysics Center (WIPAC) ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Korea Polar Research Institute (KOPRI) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
ภาพจาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่