ส่งเสริมการเป็นเมืองอัจฉริยะในด้านสุขภาพ วิศวฯ มช. ร่วมหารือการดำเนินการ เรื่อง การเตือนภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

               คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหารและคณาจารย์ ให้การต้อนรับ คุณสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารพร้อมคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน ในโอกาสเข้าฟังการบรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมหารือการดำเนินงานโครงการ “การบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในชุมชนภาคเหนือตอนบนด้วยเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอัจฉริยะ” ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น.ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 7 อาคาร 30 ปี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา เป็นผู้สรุปผลผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ

              คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการดำเนินโครงการ “การบริหารจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในชุมชนภาคเหนือตอนบนด้วยเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลเตือนภัยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอัจฉริยะ” โดยการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลในการช่วยเตือนภัยและป้องกันประชาชนในชุมชนจากภัยที่มาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวและป้องกันตนเองจากโรคภัยที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมีชุมชนในพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนต้นแบบในการดำเนินโครงการฯ โดยการดำเนินกิจกรรมดังนี้

              1. สร้างอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) แบบออนไลน์ชนิดไร้สาย ให้มีขนาดกะทัดรัดและเคลื่อนย้ายได้ง่าย วัดค่าต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับการเกิดฝุ่น และประมวลผลค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ได้

              2. ติดตั้งอุปกรณ์วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) สำหรับเฝ้าระวังและแจ้งเตือน ให้กับชุมชนในอำเภอบ้านโฮ่ง รวมทั้งสิ้น 80 จุด

              3. ติดตาม แสดงผล และ การเฝ้าระวัง เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลฝุ่น แบบออนไลน์บนระบบอินเตอร์เน็ต ประกอบด้วย

แผนที่ฝุ่น ที่แสดงเป็นระดับโทนสีของคุณภาพอากาศบนแผนที่แบบออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง บนเว็ปไซต์ http://dustnorthernthailand.org

Dashboard ที่แสดงผลข้อมูลคุณภาพอากาศเป็นแถบโทนสีของดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์แต่ละหมู่บ้านของแต่ละตำบล

แจ้งเตือนผ่านกลุ่ม Line Notify จากค่าฝุ่นที่วัดได้จากการตรวจวัดของอุปกรณ์วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 และ PM10) ทั้งหมด 80 จุด

              4. สร้างระบบ ห้องปลอดฝุ่น (Safe Zone) ที่มีระบบควบคุมปริมาณฝุ่นแบบอัตโนมัติ จำนวน 6 ห้อง เพื่อป้องกันและบรรเทาการเจ็บป่วยหรืออาการของโรค

              5. การอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนอำเภอบ้านโฮ่ง ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่