มช. ส่ง วิศวฯ นำลงนาม 7 ภาคี 72 หน่วยงาน ดันอุตสาหกรรมระบบรางไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยหัวหน้าศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม ผู้แทนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รับบทร่วมหารือแนวทางผลิตบุคลากรระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมข้างต้น พร้อมคณบดีฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตบุคลากรและการพัฒนาด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมทางด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ระหว่างมช. กับกรมการขนส่งทางราง

พิธีลงนามฯ นำโดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต พร้อมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร และหัวหน้าศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม ร่วมพิธีลงนามร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตบุคลากรและการพัฒนาด้านระบบรางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมทางด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” แบบออนไลน์ ระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับกรมการขนส่งทางราง ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธานในพิธีฯ อันส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงานอันมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราง ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริม และใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบรางในด้านต่าง ๆ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ณ สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มช.

บันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีหน่วยงานร่วมลงนาม 7 ฝ่าย ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง, สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน), หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง, สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน, สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน พร้อมด้วยผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน ภายใต้ระยะเวลาความร่วมมือทั้ง 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2569) โดยจะส่งผลให้การผลิต ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางของไทยในอนาคตก้าวหน้าและพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งสนับสนุนให้บุคลากรด้านระบบรางของไทยมีศักยภาพ สามารถสร้าง พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ ด้านระบบรางไปสู่การปฏิบัติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาระบบรางตามที่รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งให้ความสำคัญกับการขนส่งโดยเทคโนโลยีข้างต้น รวมถึงพัฒนาโครงการต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่อง เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในเมือง เป็นต้น

ขอบคุณภาพข่าวจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่