18 เดือน ขับเคลื่อน วิศวฯ มช. คณบดีแถลงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา บรรลุเป้าหมายแล้วหลายประเด็น
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร แถลงผลการปฏิบัติงานในรอบ 18 เดือน ภายใต้แนวคิดการบริหารงานหลัก คือ ยึดมั่นในความเป็นเลิศทางวิศวกรรม: Foster Engineering Excellence ทั้งในการสร้างและพัฒนาแก่ตนเอง รวมถึงสังคม วิชาชีพวิศวกรรม อีกทั้งมีความเป็นเลิศด้านงานวิจัย คิดค้นองค์ความรู้ใหม่ไปใช้พัฒนาสังคม มุ่งยัง 2 เป้าหมายใหญ่ ได้แก่ ติดอันดับ 1 ใน 500 ผู้นำด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี: QS Ranking TOP 500 in Engineering & Technology อีกจุดหมาย คือ เป็นสถานศึกษาตามมาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนด: TQC : Thailand Quality Class ยึดหลักต่อเนื่องจากนโยบายเดิม เพิ่มความพร้อมในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยสิ่งสำคัญในการบริหาร ได้แก่ ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทักษะสมัยใหม่เป็นพลเมืองโลกที่ดีและให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคอย่างเท่าเทียม ผลิตผลงานวิจัยตอบโจทย์ประเทศและสังคมได้อย่างยั่งยืน บริหารจัดการการเงินภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จัดการองค์กรแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น สร้างสังคมที่เป็นมิตร ส่งเสริมการทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ ปรับองค์กรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำงานบนหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อองค์กรและสังคม โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารเรียนรวมสามชั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. เวลา 13.30 น.
การดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถสนับสนุนแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระยะที่ 13 ซึ่งเป็นจุดแข็งของคณะฯ โดยจัดการศึกษาวิศวกรรมที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสอดรับกับแผนพัฒนาฯ เรื่อง Education Platform เน้นความต้องการของผู้เรียน และผู้ใช้บัณฑิตผ่านหลักสูตร Integrated Engineering (เริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษา ปีการศึกษา 2565) มุ่งสนับสนุนผลกระทบเชิงบวกด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับมหาวิทยาลัย มีการวิจัยระดับสูงในด้านที่เป็นเป้าหมายของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ Biopolis (พัฒนาเมืองนวัตกรรมชีวภาพ) และ Medicopolis (การยกระดับมาตรฐานงานวิจัย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมด้านการแพทย์) ซึ่งคณะฯ สนับสนุนได้ด้วยการวิจัยด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบราง ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) การเกษตรสมัยใหม่ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ การสนับสนุนและวิจัยด้านพลังงานหมุนเวียน หรือพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลทางการแพทย์ การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูลสนับสนุนงานด้านการแพทย์ หรือนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีทางวิศวกรรมใช้สนับสนุนสังคมผู้สูงอายุตามลำดับ พร้อมมุ่งพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าแก่สังคม อันสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี พลังงานสะอาดราคาถูก การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนพร้อมกับมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิผลผ่านการพัฒนาระบบงานต่างๆ อาทิ การบริหารองค์กรเพื่อความเป็นเลิศพัฒนาระบบบริหารที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากรผ่านโครงการ Brain Power ของมหาวิทยาลัย การเข้าร่วมโครงการระบบธรรมาภิบาล การจัดการความเสี่ยง อีกทั้งมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงานดิจิทัลบนข้อมูลของคณะฯ ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการทำงานตามพันธกิจ ครอบคลุมการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยระบบดิจิทัล ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานผลการปฏิบัติงานได้ทาง https://cmu.to/MRbQ4