อาจารย์วิศวฯ มช. หน.ศูนย์ CCDC นำทีมคณาจารย์ นักวิจัย มช. พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลแบบออนไลน์เชื่อมโยงข้อมูลด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม ดันแม่เมาะสู่เมืองอัจฉริยะคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้ความร่วมมือ กฟผ.แม่เมาะ + มช.

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการเมืองแม่เมาะเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (Mae Moh Smart and Livable City Towards Climate Change Net Zero) ภายใต้ระยะเวลาการดำเนินโครงการร่วมกัน 3 ปี โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ร่วมลงนามฯ พร้อมด้วยนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีดังกล่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2565 ณ ห้องมุ่งงานเลิศ อาคารประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จ.ลำปาง


ความร่วมมือข้างต้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภูมิกาศ (CCDC) ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ด้วยความร่วมมือจากคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญหลากคณะ หลายสาขาวิชา รวมถึงสำนักบริการเทคโนโลยีสารสารเทศ มช. (ITSC) ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับการจัดทำฐานข้อมูล อีกทั้งพัฒนาขีดจำกัดการจัดการข้อมูลเดิมที่อยู่ในรูปแบบเอกสารในพื้นที่อำเภอแม่เมาะและจังหวัดลำปาง แปลงเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data system) ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ จัดทำแผนที่ความเสี่ยงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ตลอดจนเสนอแนวทางการพัฒนาเมือง และการรับมือกับปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การเป็นเมืองปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ (Net Zero) เชื่อมโยงแพลตฟอร์มข้อมูลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมออนไลน์กับข้อมูลเมือง (City Data Platform) เช่น อากาศ น้ำ ของเสีย ก๊าซเรือนกระจก และพื้นที่สีเขียว นำไปบริหารจัดการพัฒนาเมือง ให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในการป้องกัน พร้อมรับมือ และเตือนภัยพิบัติได้ ทั้งเอื้อประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนหรือนโยบายการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การดำเนินงานเริ่มจากการพัฒนาฐานข้อมูลข้างต้นรูปแบบของแพลตฟอร์มออนไลน์ และนำข้อมูลที่รวบรวมได้ อาทิ จากหน่วยงานต่างๆ การติดเซ็นเซอร์เพื่อติดตามข้อมูลสภาพอากาศและมลภาวะแบบเรียลไทม์ ตลอดจนข้อมูลด้านการใช้ไฟฟ้า รวมถึงการประหยัดไฟในพื้นที่ อ.แม่เมาะ มาวิเคราะห์ หรือพยากรณ์ด้วยแบบจำลอง แล้วจัดทำแผนที่ความเสี่ยงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลที่ได้นำเผยแพร่เป็นข้อมูลเปิด (Open Data) เพื่อให้นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักพัฒนาเมืองสามารถเข้าถึง และใช้พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งนำไปสื่อสารด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่ายไปยังประชาชนในพื้นที่จนมีความรู้ความเข้าใจในการปรับตัว มีความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และดำเนินชีวิตแบบเข้าสู่เมืองอัจฉริยะที่มุ่งการเป็นเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างเหมาะสมต่อไป