มช. ตั้งวิศวฯ นำทีมผสานกำลัง บ.ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง เซ็น MOU พัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดสอบด้านโยธา ทางการก่อสร้างและระบบคมนาคมทางราง + ดันศูนย์ RAIL CFC ให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง รองรับการพัฒนาอุโมงค์รถไฟ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยศูนย์การศึกษานานาชาติทางวิศวกรรมศาสตร์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำองค์ความรู้ การศึกษาค้นคว้า วิจัย และการทดสอบด้านวิศวกรรมโยธาอันเกี่ยวข้องกับทางรถไฟ สามารถประยุกต์เข้ากับการเรียนการสอน การบริการวิชาการ อันนำไปสู่ผลกระทบเชิงพาณิชย์ และประโยชน์อื่นๆ ตามขอบเขตความร่วมมือ ในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผู้ลงนามหลัก คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล พร้อม นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ลงนามในฐานะพยานได้แก่ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร, กรรมการบริหารและ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง นายสุรศักดิ์ สีเขียว ซึ่งมีรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ, หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์,หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมโยธาและฐานรากระบบรางขั้นสูง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคเหนือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุริยะ ทองมุณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลรองศาสตราจารย์ ดร.กลยุทธ ปัญญาวุธโธ, ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคเหนือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุริยะ ทองมุณี รวมถึงกรรมการบริหาร สายงานปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง นายนาวิน ป้องแก้ว ร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ                  

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีอายุ 3 ปี นับจากวันลงนาม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา ค้นคว้า งานวิจัยและทดสอบด้านวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก่อสร้าง และระบบคมนาคมทางราง โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานของอุโมงค์รถไฟให้ทันสมัย นำไปสู่การส่งเสริมปัจจัยในการพัฒนาประเทศ อาทิ องค์ความรู้ บุคลากร นักศึกษา รวมทั้งสร้างมาตรฐานการทดสอบและก่อสร้างอุโมงค์รถไฟให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศไปจนถึงสากล ร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของศูนย์  RAIL CFC มุ่งเป็นศูนย์วิจัย ทดสอบที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง รองรับการพัฒนาอุโมงค์รถไฟในอนาคต นอกจากนี้ยังผลักดันสู่ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาระบบยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่สำหรับก่อสร้างอุโมงค์ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ตอบสนองนโยบายความยั่งยืนขององค์กร

เหตุแห่งความร่วมมือข้างต้นสืบเนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างด้านวิศวกรรมโยธา และธรณีเทคนิค ปัจจุบันทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงแนวทางดำเนินธุรกิจ มุ่งเน้นที่ระบบราง ความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม สังคม ตลอดจนบรรษัทภิบาลอย่างยิ่ง จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้รองรับการพัฒนาดังกล่าว กอปรกับศูนย์ RAIL CFC มีศักยภาพในการวิจัยและการทดสอบด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย จึงประสงค์มีส่วนร่วมส่งเสริมการศึกษาวิจัย พัฒนาด้านต่างๆ ดังกล่าว โดยเน้นความรู้ด้านอุโมงค์รถไฟ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับมหาวิทยาลัย บุคลากร นักศึกษา ประชาชนทั่วไป นำไปสู่การเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย