ร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วิศวฯ มช. จับมืออินโนเว็ค เอเซีย ก่อความร่วมมือระหว่างนักวิจัย วิศวฯ มช. + ภาคอุตสาหกรรมเขต EEC สร้างโอกาส ช่องทางให้คำปรึกษาทางอุตสาหกรรม ใน 3 จังหวัดนำร่อง ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MOU) โครงการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กับ บริษัท อินโนเว็ค เอเซีย จำกัด โดยมีผู้ลงนามหลักได้แก่คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร พร้อมประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท อินโนเว็ค เอเซีย จำกัด คุณคฑาภณ กุลภพสิริ ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินโนเว็ค เอเซีย คุณเชิดเกียรติ กุลภพสิริ ลงนามในฐานะพยาน เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมแสงเพชร 1 โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จังหวัดระยอง
สืบเนื่องจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท อินโนเว็ค เอเซีย จำกัด เล็งเห็นความสำคัญต้องกันด้านการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อก่อความร่วมมือระหว่างนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับภาคอุตสาหกรรมในเขต EEC ในอนาคต ตลอดจนสร้างโอกาส รวมถึงช่องทางการประสานงานสำหรับให้คำปรึกษาแก่ภาคอุตสาหกรรม การตั้งสำนักงานประสานงานในเขตข้างต้น อันเอื้อให้เข้าถึงโจทย์วิจัย และ pain point ที่มีความหลากหลาย ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำ อีกทั้งนำไปพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมระหว่างภาคเอกชน – อุตสาหกรรมเขต EEC ให้มีโอกาสรับทุนสนับสนุน ยกระดับผลกระทบ (Impact) เกิดการว่าจ้างให้ศึกษาวิจัย หรือแก้ปัญหาโดยตรงจากภาคอุตสาหกรรม ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก EEC ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเวทีหนึ่งสำหรับนักลงทุน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เทคโนโลยีชั้นสูง นวัตกรรมมการผลิตและบริการ สานกำลังวางแผนกิจกรรมของนักลงทุนกับนักวิจัยให้บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. สนับสนุนบุคลากรและนักวิจัย ให้คำปรึกษาด้านวิชาการ วิชาชีพ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมร่วมกัน