วิศวฯ มช. ลงนาม MOU ร่วมกับ บริษัท ไอบอทน้อย จำกัด ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร เพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ฟองสมุทร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับผู้บริหารฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ บริษัท ไอบอทน้อย จำกัด ดร.ธนวัฒน์ เที้ยศิริเพชร โดยมีผู้เข้าร่วมให้การต้อนรับตลอดจนร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงประกอบด้วยรองคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถพล สมุทคุปติ์ พร้อมด้วยผู้ช่วยคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพงษ์ จำรูญ และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รองศาสตราจารย์ ดร.สันติ พิทักษ์กิจนุกูร รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กานต์ ปทานุคม และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมบูรณาการอาจารย์ ดร.สรพล กิจศิริสิน ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เวลา 15.30 น. ณ หอเกียรติยศ ชั้น 6 อาคาร 30 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอบสนองตามความต้องการของบริษัท โดยที่ผ่านมา บริษัทได้มีส่วนสำคัญในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรวิศวกรรมบูรณาการ ในระดับปริญญาตรี ภาคปกติ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นมา บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้บริษัทภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรบริษัท โดยบูรณาการองค์ความรู้จากภาควิชาต่างๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษา
บริษัท ไอบอทน้อย จำกัด เป็นผู้นำในการให้บริการ ให้คำปรึกษา และดำเนินงานวิจัยและพัฒนาทางด้าน Chatbot Data Science และ AI อาทิ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) โดยบริษัทได้บุกเบิกการพัฒนาระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติสำหรับภาษาไทยโดยเฉพาะและมีการนำไปใช้ เช่น ระบบโต้ตอบอัตโนมัติ Chatbot ที่มีผู้ใช้บริการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 30 แห่ง และระบบพยาบาล AI ที่สามารถใช้คัดกรองผู้ป่วย เป็นต้น จุดเริ่มต้นของ บริษัท ไอบอทน้อย จำกัด เริ่มจากช่วงปี 2016 โดย ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย ได้พัฒนา “บอทน้อย” เพื่อนหุ่นยนต์เอไอแชทบอทใน LINE บอทน้อยได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และในปีถัดมาได้รับรางวัล LINE BOT AWARD จากประเทศญี่ปุ่น จนทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น นำมาสู่การตั้งบริษัท ไอบอทน้อย จำกัด มุ่งพัฒนางานทาง AI Solution และ Data Science โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากภาครัฐ และให้บริการแก่ลูกค้าทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนรวมกว่า 30 แห่ง