Kick off! วิศวฯ มช. เปิดโครงการวิจัยและพัฒนา “โครงการ Clean Water Access for Nongmontha Village, Chiang Mai, Thailand – Implementation and Evaluation” ระยะที่ 2

                    คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนจาก Nanyang Technological University ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ วงเงิน 10,494,000 บาท พร้อมรับหน้าที่หัวหน้าโครงการวิจัย และพัฒนานวัตกรรม “โครงการ Clean Water Access for Nongmontha Village, Chiang Mai, Thailand – Implementation and Evaluation” ระยะที่ 2  โดยได้จัดพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ พร้อมชี้แจงแนวทางการพัฒนางานวิจัยระหว่างหน่วยงานที่ร่วมดำเนินโครงการ เมื่อวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 – 15.00 น. ณ หอเกียรติยศ ชั้น 6 อาคาร 30 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย  ฟองสมุทร เป็นประธาน คณบดีคณะสังคมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว และนักวิจัยจากคณะสังคมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมพิธี

                    การดำเนินโครงการข้างต้นเป็นความสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (23) เรื่อง การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (พ.ศ.2561-2580) ด้านสังคมที่มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม  และด้านสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ เป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศในด้านการวิจัยและบริการวิชาการ โดยมีเป้าหมายร่วมกันสร้างผลงาน นวัตกรรม รวมถึงการนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ชุมชน และสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดการพึ่งพาและอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างยั่งยืน

                    เหตุที่ทีมวิจัยเลือกหมู่บ้านหนองมณฑา ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ดำเนินโครงการ สืบเนื่องจากหมู่บ้านหนองมณฑา เป็นหมู่บ้าน 1 ใน 4 ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิธีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และจากการเข้าสำรวจระบบจ่ายน้ำในพื้นที่หมู่บ้านหนองมณฑา  ฝั่งซ้าย : หมู่บ้านมอวาคี มีจำนวนครัวเรือน 45 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 149 คน และฝั่งขวา : หมู่บ้านบ้านใหม่  มีจำนวนครัวเรือน 51 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 169 คน โดยแหล่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำของทั้ง 2 หมู่บ้าน แยกจากกันอย่างชัดเจนเพื่อลดปัญหาทางด้านสังคมของพื้นที่ และผลการทดสอบอัตราการไหลเข้าของแหล่งน้ำคู่ พบว่า สระน้ำผุดมีอัตราการไหลเข้า 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และบ่อน้ำบาดาลมีอัตราการไหลเข้า 9 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน อัตราการใช้น้ำโดยหมู่บ้านที่ 1 มีความต้องการใช้น้ำ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และหมู่บ้านที่ 2 มีความต้องการใช้น้ำ 17 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยเป็นการสูบน้ำจากแหล่งน้ำทั้ง 2 แห่งเข้าถังเก็บน้ำจำนวน 2 ใบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตร สูง 5 เมตร มีปริมาตรเก็บน้ำ 35.32 ลูกบาศก์เมตรต่อถัง โดยมีระดับความสูงตั้งแต่ 952 – 972 เมตร (เหนือระดับน้ำทะเล, MASL) ประกอบกับคุณภาพน้ำในพื้นที่มีความขุ่น มีของแข็งแขวนลอย สารอินทรีย์ และจุลินทรีย์ และโลหะหนัก โดยจากการสำรวจ และการวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ทีมวิจัยจึงได้วางแผนการออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำ โดยจะมีการติดตั้งระบบปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในการถ่ายโอนน้ำจากแหล่งน้ำทั้ง 2 แห่งไปยังถังเก็บน้ำ ระบบการเดินท่อน้ำ ทั้งนี้ การบำบัดคุณภาพน้ำจะใช้การกรองเมนเบรนพร้อมฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวีในการบำบัดน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานน้ำดื่ม

                    ทีมวิจัยประกอบด้วย : รองคณบดี และหัวหน้าโครงการการวิจัย และพัฒนานวัตกรรม  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์  ชัยชนะ    อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรวัฒน์  ปลาเงิน, เรือโท ดร.ชนะ  สินทรัพย์วโรดม และ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ ดร.อรรณพ  วงษ์เรือง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาคภูมิ  รักร่วม ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว  คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ตลอดจนนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 เมษายน 2570