วช. x สำนักบริการวิชาการ มช. x สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มช. ร่วมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้าน Blockchain ในกิจกรรม “DustBoy day ครั้งที่ 3
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (UNISERV) และหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (3E) จัดกิจกรรม “DustBoy day ครั้งที่ 3” ในหัวข้อ DustBoy Chain : Bridging the Database Revolution มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่เทคโนโลยีบล็อกเชนและการใช้แผนที่ขั้นสูงสำหรับฐานข้อมูลคุณภาพอากาศ เพื่อส่งเสริมการนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการข้อมูลเมืองและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเชื่อมโยงผู้พัฒนา ผู้ใช้งาน และผู้กำหนดนโยบาย ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมอินทนิล ชั้น 1 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กิจกรรมในครั้งนี้ฯประกอบด้วย การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านข้อมูลวิชาการสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ 4 มหาวิทยาลัย การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีบล๊อคเชน การมอบเครื่อง DustBoy ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Qualcomm และ GreenIO ให้กับศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และกิจกรรม Workshop : Blockchain และ SuperMap ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึงประมาณ 60 คน ประกอบด้วยนักวิจัย นักวิชาการจากหน่วยงานภาคการศึกษา ภาครัฐบาล และภาคเอกชน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการกล่าวเปิดกิจกรรม จากนั้น รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ผู้อํานวยการสํานักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ขึ้นกล่าวรายงาน นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงการสนับสนุน DustBoy ของวช. และ ได้รับเกียรติจาก นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมบรรยายในหัวข้อ “การบูรณาการข้อมูลเพื่อใช้วางแผนรับมือไฟป่า ฝุ่นควัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
โดย วช. ได้สนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรมให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการดำเนินโครงการ “การเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาหมอกควัน โดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์ DustBoy ในประเทศไทย” มาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งทีมนักวิจัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล ได้พัฒนาเครือข่ายเครื่องตรวจวัดระบบเซ็นเซอร์ และระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นข้อมูลในการเฝ้าระวัง เตือนภัยให้กับประชาชนทั่วไป จนได้รับรางวัลมากมาย ประกอบด้วย CMU Social Value 2023 และ Grand Prize SIIF2023 (ปี 2566) ที่สาธารณรัฐเกาหลี และในครั้งล่าสุดยังได้รับรางวัล รองชนะเลิศ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทองค์กรภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไร จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ รางวัล NRCT Award ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวฯประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ผ่านแอพพลิเคชั่น AQIC และเว็บไซต์ https://pm2_5.nrct.go.th/
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
และสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/nrctofficial